วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ธรรมะ


ธรรมะ

       ธรรมะ เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาค้นคว้าและเข้าถึงโดยวิถีทางอย่างวิทยาศาสตร์ มิใช่โดยทาง ตรรกะ -นยะ -คณิตศาสตร์ -หรือฟิโลโซฟี่ ที่ต้องใช้สมมติฐาน (HYPOTHESIS) หากแต่ต้องใช้ปัญญาโดยตรง ที่รู้สึกอยู่ในจิต เป็นวัตถุสำหรับศึกษาพิสูจน์ทดลอง
 ต้องเรียนธรรมะโดยวิถีทางวิทยาศาสตร์ อย่าเรียนอย่างฟิโลโซฟี่ หรืออะไร ๆ ที่ต้องใช้สมมติฐานเช่นนั้น ซึ่งไม่มีทางที่จะเข้าถึงตัวแท้ของธรรมะ ซึ่งจะดับทุกข์ได้โดยแท้จริง
 ธรรมะ คือ หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดและทุกระดับตามกฎของธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาและความสุขสันติทั้งทางวัตถุและจิตใจ แม้ที่สุดแต่ทางการเมือง ทั้งภายนอกและภายใน
 ธรรมะแท้ คือ หน้าที่อันถูกต้องของตัวใครตัวมัน อันเขาจะต้องทำให้ดีที่สุด จนพอใจตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเอง เคารพตัวเองได้ อยู่ตลอดเวลา ใครมีธรรมะอย่างนี้กันบ้าง
ในการศึกษาธรรมะนั้น สิ่งที่ต้องรู้จักกันเสียก่อนอย่างชัดเจน คือ อุปาทาน (SPIRITU ALATT ACHMENT) และความทุกข์ อันเป็นผลเกิดจากสิ่งนั้น ในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ในความรู้สึก มิใช่การอ่าน หรือการคำนวณโดยเหตุผล
ชีวิตเป็นสิ่งที่ปรับปรุงได้ จิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ โดยการเติมธรรมะลงไปอย่างถูกต้อง ตามกฎของอิทัปปัจจยตา
          โลกทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความรู้สึกทางผัสสะ เกิดดับอยู่กับการเกิดดับของผัสสะ เราจึงควบคุมและปรับปรุงโลกได้ ด้วยการกระทำต่อผัสสะความทุกทั้งปวงสรุปรวมอยู่ที่อุปาทาน อันแสดงอาการออกมาเป็นความรัก โกรธ เกลียด กลัว วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวง อาฆาตพยาบาท ความดิ้นรนทางเพศ ความละเหี่ย และความฟุ้งซ่าน ดังนั้น จงรู้จักสิ่งที่เรียกว่าอุปาทานให้ถึงที่สุดความดับแห่งทุกข์ มีอยู่ในตัวความทุกข์ ดังนั้น พอรู้สึกเป็นทุกข์ ก็จงมองหาเหตุของมันในตัวมัน พบแล้วจะพบความดับทุกข์ที่นั่นเอง ราวกับว่าหาพบจุดเย็นที่สุดในกลางเตาหลอมเหล็กที่ลุกโชน เราเรียกกันว่า “หาพบนิพาน ท่ามกลางวัฏฏสงสาร”การทำงานให้สนุก และรู้สึกเป็นสุข ในขณะที่กำลังทำงานนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้และน่าสนใจเพียงไรขอให้ฟังดูให้ดีมีความรู้จริงเห็นจริงว่า หน้าที่การงานของสิ่งมีชีวิตนั้นแหละ คือธรรมะ หรือพระเจ้า ที่จะช่วยได้จริง ๆ ดังนั้น จงทำหน้าที่ทุกอย่างด้วยความรู้สึกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ก็พอใจและรู้สึกเป็นสุข
 ความสุขที่คนธรรมดาสามัญเข้าใจกันนั้นหาใช่ความสุขไม่ เป็นเพียงความเพลิดเพลินที่หลอกลวงทางอายตนะ และแพงมาก ความสุขที่แท้จริงนั้นไม่ต้องใช้เงินเลย แต่ทำให้เงินเหลือ
 ความสุขที่แท้จริง เกิดจากความพอใจในการได้ทำหน้าที่หรือปฏิบัติธรรมะ กลับไปบ้าน ทำงานในหน้าที่ให้สนุก และรู้สึกเป็นสุขเสียเมื่อกำลังทำงาน
 ทุกศาสนามุ่งที่ความรอด (EMANCCIPATION) เป็นจุดหมายเหมือนกันทั้งนั้น รอดตาย(ทางกาย) รอดจากทุกข์ (ทางจิต) แม้วิธีการให้รอดนั้นจะต่างกันบ้าง
 ศาสนามี่มีพระเจ้า ก็ว่า รอดเพราะพระเจ้าช่วยให้รอด พุทธศาสนาว่า รอดเพราะการกระทำที่ถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตา พระเจ้าชนิดที่มิใช่บุคคล หรือมีความรู้สึกอย่างบุคคล
 ถ้าดูตามความหมายของสัญลักษณ์กางเขนแล้วศาสนาคริสต์ก็สอนให้ตัดตัวตนด้วยเหมือนกัน (ตัว ที่ยืนอยู่ แล้วถูกตัดที่คอ) และสอนไม่ให้ติดดีติดชั่ว (คำสอนหน้าแรก ๆ ของคำภีร์ไบเบิ้ล ที่พระเจ้าห้ามมิให้อาดัมกับอีฟกินผลไม้ของต้นไม้ที่ทำให้รู้สึกดีชั่วจนติดดีติดชั่ว)
 ต้องรู้จักความหมายที่แท้จริงของคำว่า ทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ ทั้งสามอย่าง อย่างถูกต้องทั่วถึง ถ้าไม่รู้ก็จะเอาไปปนกัน แล้วจะหาไม่พบสิ่งสูงสุดต้องรู้จักความต่างกันของเครื่องมือดับทุกข์ทั้งสามอย่าง คือ ความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นแจ้งแทงตลอด มิฉะนั้นจะไม่เข้าถึงสิ่งที่ดับทุกข์ได้

 คำว่า “ธรรมะ” มีความหมาย 4 อย่าง คือ ตัวธรรมชาติ , กฎของธรรมชาติ , หน้าที่ของกฎธรรมชาติ , และผลจากหน้าที่นั้น
 คำว่า “ศาสนา” หรือ RELIGION คือการปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ ที่ทำให้เกิดความผูกพันกันระหว่ามนุษย์กับสิ่งสูงสุด ชนิดที่มีผลเป็นการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
 ธรรมะ มิได้เป็นของตะวันออกหรือของตะวันตก แต่เป็นของทุก ๆ ปรมาณู ที่ระกอบกันขึ้นเป็นสากลจักรวาล (COSMOS) ดังนั้นเป็นการน่าหัวที่จะพูดว่าศาสนาของตะวันออกหรือศาสนาของตะวันตกโดยอาศัยอำนาจของธรรมะ เราสามารถมีชีวิตชนิดที่ไม่มีการกระทบกระทั่ง (CONFLICT) และไม่มีความทุกข์ (DISSATISFACTORINESS) ทุก ๆ ชนิดเหนือธรรมดา
 อย่าเข้าใจผิดคำว่า ”เหนือโลก” จนไม้ได้รับประโยชน์อะไร จากสิ่งอันประเสริฐนี้ คือ การอยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งแวดล้อมใด ๆ ในโลกนี้
 คำว่า “นิพพาน” คือ ความเย็น (ทางวิญญาณ) ของชีวิตที่มากขึ้นไปถึงระดับที่ ความร้อนของกิเลส หรือไฟสามชนิดตามขึ้นไปไม่ถึงที่ท่านพูดว่า สมาธิ มีผลทำให้เลิกอบายมุขได้ทุกอย่างมีสุขภาพและอารมณ์ดี เลิกสำมะเลเทเมาได้นั้นยังน้อยเกินไป มันให้อะไรมากกว่านั้นมากนัก เช่น ช่วยให้มีจิตใจอยู่เหนือโลก ฯลฯ หมดปัญหาทุกอย่างทุกชนิดที่ท่านยังไม่เข้าใจการบวช มิใช่สิ่งแปลกประหลาด หากแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เปิดโอกาสและความสะดวกอย่างยิ่ง ในการที่จะศึกษาฝึกฝนให้ชีวิตมีธรรมะ ชีวิตคลองเรือนนั้นคับแคบและอึดอัดมากไม่สะดวก การบวชจึงเป็นสิ่งที่อย่างน้อยก็ควรลองชีวิตใหม่ที่ปราศจากการกระทบกระทั่ง และความไม่สะบายใจทุก ๆ ชนิดนั้น เป็นสิ่งที่มีได้เมื่อชีวิตนั้นประกอบด้วยธรรม
  

                                     ความสุข
    ความเอ๋ย ความสุข                         ใครใครทุก คนชอบเจ้า เฝ้าวิ่งหา
"แกก็สุข ฉันก็สุข ทุกเวลา"                   แต่ดูหน้า ตาแห้ง ยังแคลงใจ
    ถ้าเราเผา ตัวตัณหา, ก็น่าจะสุข,          ถ้ามันเผา เราก็ "สุก" หรือเกรียมได้
เขาว่าสุข สุขจริงเน้อ อย่าเห่อไป               มันสุขเย็น หรือสุขไหม้ ให้แน่เอย ฯ

                                 อาจารย์ไก่
    ถ้าคนเราเปรียบเหมือนไก่ให้ดูดี        มันไม่มีนอนไม่หลับไม่ปวดหัว
ไม่มีโรคประสาทประจำตัว                 โรคจิตรไม่มากลั้วกับไก่น้อย
    คนในโลกกินยาเป็นตันตัน              พวกไก่มันไม่ต้องกินสักแต่น้อย
หลับสนิทจิตสบายร้อยทั้งร้อย               รู้สึกน้อยแห้งน้ำใจอายไก่เวย
    ได้เป็นคนหรือจึงได้นอนไม่หลับ        ควรจะนับว่าเป็นบาปหรือบุญเหวย
มีธรรมะกันเสียนะอย่าละเลย               อยู่เสบยไม่ละอายแก่ไก่มัน

                                 ตัวกู  ตัวสู
    อันความจริง "ตัวกู" มิได้มี            แต่พอเผลอ มันเป็นผี โผล่มาได้
พอหายเผลอ "ตัวกู" ก็หายไป              หมด "ตัวกู" เสียได้ เป็นเรื่องดี
    สหายเอ๋ย จงถอน ซึ่ง "ตัวกู"           และถอนทั้ง  "ตัวสู"  อย่างเต็มที่
มีกันแต่ ปัญญา และปรานี                 หน้าที่ใคร ทำให้ดี เท่านี้เอย

                            อยู่ให้เหมือนลิ้นงูในปากงู
   นั่นลูกตา มองเห็น ไม่เป็นหมัน           เขาใช้มัน เล็งแล แก้ปัญหา
อยู่ในโลก อย่างไร ไม่ทรมาน์                พิจารณา ตรองไป ให้จงดี
   อยู่ให้เหมือน ลิ้นงู ในปากงู               ไม่เคยถูก เขี้ยวงู อยู่สุขศรี
อยู่ในโลก ไม่เคยถูก เขี้ยวโลกีย์              เป็นเช่นนี้ อุปมา อย่าฟั่นเฟือน
   คิดดูบ้าง นั่งได้ ในปากงู                  ก็ไม่ถูก เขี้ยวงู อยู่เสมือน
นั่งในห้อง แสนสบาย ภายในเรือน            มีเค้าเงื่อน เหมือนพระ- ภควันต์
   อยู่ในโลก ไม่กระทบ โลกธรรม            อยู่เหนือกรรม เหนือทุกข์ เป็นสุขสันต์
ใครมีตา รีบเคารพ นอบนบพลัน              รีบพากัน ทำตาม ยามนี้เอยฯ
                           (พุทธทาส อินฺทปัญโญ)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น