วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมาของประเพณีบุญบั้งไฟ



ประวัติความเป็นมาของประเพณีบุญบั้งไฟ



           
             ประเพณีบุญบั้งไฟ  เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดยโสธร ที่มีมาแต่ครั้งไหน
ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน  แต่คนในสมัยโบราณได้ให้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความ
เป็นมาของประเพณีบุญบั้งไฟในมุมมองต่างๆ ไว้ดังนี้
มุมมองทางด้านความเชื่อ
       ชาวบ้านในสมัยก่อนเชื่อว่ามีโลกมนุษย์ และโลกเทวดา  จึงคิดว่ามนุษย์อยู่ภายใต้
อิทธิพลของเทวดา  ซึ่งมีการรำผีฟ้าเป็นตัวอย่างที่แสดงออกทางด้านการนับถือเทวดา 
 และเรียกเทวดาว่า  “แถน”  เมื่อถือว่ามีแถนก็ถือว่า  ฝน  ฟ้า  ลม  เป็นอิทธิพลของแถน
 หากทำให้แถนโปรดปราน  มนุษย์ก็จะมีความสุข  ดังนั้นจึงมีพิธีบูชาแถน  ซึ่งการจุดบั้งไฟก็
เป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงความเคารพหรือส่งสัญญาณความภักดีไปยังแถน  ชาวอีสานจำนวนมาก
เชื่อว่าการจุดบั้งไฟเป็นการขอฝนจากพญาแถน  และมีนิทานปรัมปราเช่นนี้อยู่ทั่วไป 
 แต่ความเชื่อนี้ยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน
 มุมมองในความหมายของบั้งไฟ
              คำว่า  “บั้งไฟ”  ในภาษาถิ่นอีสานมักจะสับสนกับคำว่า  “บ้องไฟ” 
 แต่ที่ถูกนั้นควรเรียกว่า “บั้งไฟ”  ซึ่งคำว่า บั้ง หมายถึง สิ่งที่เป็นกระบอก เช่น บั้งทิง
  สำหรับใส่น้ำดื่ม หรือบั้งข้าวหลาม เป็นต้น  ส่วนคำว่า บ้อง หมายถึง สิ่งของใด ๆ ก็ได้
 ที่มี 2 ชิ้น มาสวมหรือประกอบเข้าด้วยกันได้  ส่วนนอกเรียกว่า บ้อง  ส่วนในหรือสิ่งที่เอา
ไปสอดใสจะเป็นสิ่งใดก็ได้ เช่น บ้องมีด บ้องขวาน บ้องเสียม บ้องวัว บ้องควาย  ดังนั้น 
คำว่า บั้งไฟ ในภาษาถิ่นอีสานจึงหมายถึง ดอกไม้ไฟชนิดหนึ่ง  มีหางยาวเอาดินประสิวม
คั่วกับถ่านไม้  ตำให้เข้ากันจนละเอียดเรียกว่า หมื้อ (ดินปืน) และเอาหมื้อนั้นใส่กระบอกไม้ไผ่  
ตำให้แน่นเจาะรูตอนท้ายของบั้งไฟ  เอาไผ่ท่อนอื่นมัดติดกับกระบอก  แล้วใส่หมื้อโดยรอบ 
 เอาไม้ไผ่ยาวลำหนึ่งมามัดประกบต่อออกไปเป็นหางยาวสำหรับใช้ถ่วงหัวให้สมดุลกัน เรียกว่า “บั้งไฟ”
มุมมองทางศาสนาพราหมณ์
            เป็นการบูชาเทพเจ้าด้วยไฟ  ถือว่าเป็นการบูชาเทพเจ้าที่อยู่บนสวรรค์  ดังนั้น
 การจุดบั้งไฟ  จึงเป็นการละเล่นอีกอย่างหนึ่งและเป็นการบูชาเทพเจ้า  
เพื่อให้พระองค์บันดาลในสิ่งที่ตนต้องการ
มุมมองทางศาสนาพุทธ
เป็นการฉลอง และ บูชาในวันวิสาขบูชา  ซึ่งมีการทำดอกไม้ไฟในแบบต่าง ๆ 
 ทั้งไฟน้ำมัน ไฟธูปเทียน และดินประสิว  ในงานนี้มีการรักษาศีล การให้ทาน การบวชนาค 
 การอัดทรง และนิมนต์พระมาเทศน์อานิสงฆ์

ประเพณีสงกรานต์



ประเพณีสงกรานต์





ช่วงเวลา
            ตามประเพณีเดิมของไทย วันตรุษกับวันสงกรานต์แยกเป็น ๒ วัน คือ วันสิ้นปีทาง
จันทรคติ   ได้แก่ วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันตรุษ ส่วนวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ
 คือ วันที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศเมษ มักตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันสงกรานต์ 
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงรวมวันขึ้นปีใหม่มา
ไว้ในวันที่ ๑ เมษายน เรียกว่า พระราชพิธีตรุษสงกรานต์
คำว่า ตรุษ แปลว่า ตัดหรือขาด คือ ตัดปี ขาดปี หมายถึง วันสิ้นปี ตรุษเป็นพิธีแสดงความยินดีที่
ได้มีชีวิตผ่านพ้นมาด้วยความสวัสดีในรอบปีหนึ่ง ๆ เรียกว่า ส่งปีเก่า
สงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้นการย้ายที่ เคลื่อนที่ คือ พระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีใหม่ 
หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายน ทุกปี แต่วันสงกรานต์
 คือ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕
 เป็นวันเถลิงศก


ความสำคัญ

                    เป็นเทศกาลวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ของคนไทย ซึ่งยึดถือสืบเนื่องมาแต่โบราณ
 เป็นระยะเวลาเข้าฤดูร้อนที่เสร็จจากการเก็บเกี่ยวข้าว จึงว่างจากการงานประจำ
 มีการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงร่วมกันในแต่ละหมู่บ้าน ตำบลหรือเมืองหนึ่ง ๆ 
แม้ปัจจุบันทางราชการประกาศวันที่ ๓๑ ธันวาคม เป็นวันสิ้นปี และวันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี
 เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ประเพณีการทำบุญและการรื่นเริงในวันตรุษแลสงกรานต์ก็ยังคงมีอยู่ทั่ว
ไปทุกภาคของประเทศไทย

ตรุษสงกรานต์ถือเป็นนักขัตฤกษ์ที่ขึ้นหน้าขึ้นตามาแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนจะถึงวันสงกรานต์
จะมีการเตรียมเครื่องแต่งตัวประกวดประขันกัน



พิธีกรรม

                 วันตรุษและวันสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญที่คนไทยยังถือว่าเป็นวันสิ้นปี
 วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ จึงต้องเตรียมงานเป็นการใหญ่จนมีคนพูดกัน
 "ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" สิ่งที่ตระเตรียมเป็นพิเศษ คือ

๑. เครื่องนุ่งห่มเพื่อใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่ง
ร่างกาย

๒. ของทำบุญ เมื่อใกล้จะถึงวันงานก็เตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ และที่เป็นพิเศษ ๒ อย่า
ง คือ ข้าวเหนียวแดงในวันตรุษ และขนมกวนหรือกะละแมในวันสงกรานต์ ซึ่งสิ่งของ ๒ อย่าง
นี้ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการทำบุญตรุษสงกรานต์เหมือนกับการทำกระยาสารท
 เพราะนอกจากทำขึ้นเพื่อทำบุญแล้วยังแลกเปลี่ยนแจกจ่ายกันในหมู่บ้านใกล้เคียง
๓. การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ดูเรียบร้อย
 โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ แม้เสื้อผ้าที่ใช้สอยก็ต้องซักฟอกใ
ห้สะอาดหมดจดโดยถือว่าสกปรกให้สิ้นไปพร้อมกับปีใหม่และต้อนรับปีใหม่ 
ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง
๔. สถานที่ทำบุญ วัดเป็นสถานที่ทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ และทำต่อเนื่องกันหลายวัน 
เมื่อทำความสะอาดกุฏิที่อาศัยแล้ว ยังต้องทำความสะอาดหอสวดมนต์ โบสถ์ วิหาร
 ศาลาการเปรียญ ตลอดจนลานวัด เพื่อให้ดูร่มรื่นชื่นตาชื่นใจของผู้มาทำบุญในวันสำคัญ
 เพราะต้องใช้ในกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การทำบุญตักบาตร สวดมนต์ เลี้ยงพระ การฟังเทศน์
 การก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ บังสุกุลอัฐิ การปล่อยนกปล่อยปลา บางวัดชาวบ้านยังใช้ลานวัด
เป็นสถานที่รื่นเริงสนุกสนาน เช่น สาดน้ำและมีการเล่นอื่น ๆ เช่น ช่วงชัย ชักกะเย่อ เข้าทรงแม่ศรี เป็นต้น
การทำบุญถือเป็นกิจกรรมสำคัญในภูมิภาคนั้น ถ้าตรุษกับสงกรานต์ต่อเนื่องกันจะทำติดต่อกันไป 
แต่ถ้าไม่ต่อเนื่องกันก็จะทำบุญอันเป็นส่วนของตรุษส่วนหนึ่งแล้วเว้นระยะไปเริ่มทำบุญ
วันสงกรานต์อีกส่วนหนึ่ง แต่ในบางจังหวัดแม้วันตรุษและสงกรานต์อยู่ห่างกันมากน้อยเพียงใด 
ก็คงทำบุญต่อเนื่องกันจนสิ้นวันสงกรานต์ การรื่นเริงจะเริ่มมีตั้งแต่วันตรุษติดต่อกันไปจนสิ้น
วันสงกรานต์ ไม่ว่าวันตรุษและวันสงกรานต์จะต่อเนื่องกันหรือไม่
แต่ในส่วนกลางคือกรุงเทพมหานคร มีการทำบุญและการรื่นเริงกัน เฉพาะในวันมหาสงกรานต์
เท่านั้น และมักจะมีวันเดียวกันคือวันที่ ๑๓ เมษายน



การทำบุญ

มีการทำบุญในตรุษสงกรานต์ทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ เช่น การก่อพระเจดีย์ทราย 
การปล่อยนกปล่อยปลา การสรงน้ำพระ การสรงน้ำพระพุทธรูป การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร 
การรดน้ำผู้ใหญ่ การทำบุญอิฐ การสาดน้ำ การแห่นางแมว





มารยาทไทย


ปี ๒๕๔๙ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดทำองค์ความรู้ เรื่อง มารยาทไทย ประกอบด้วย การกำหนด ความหมาย ขอบข่าย ลำดับความสำคัญ และการปรับปรุงรายละเอียดการปฏิบัติท่ามารยาทไทย เรื่องการแสดงความเคารพ ซึ่งจัดทำโดย คณะกรรมการดำเนินงานด้านมารยาทไทย ตามคำสั่ง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่ ๖๓๕/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๙ โดยมี นายพะนอม แก้วกำเนิด เป็นประธานในการดำเนินงาน และได้ประชุมปฏิบัติการเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๙ ณ ห้องประชุมกองอำนวยการร่วม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการจัดทำองค์ความรู้ดังกล่าว ก็เพื่อธำรงรักษาวัฒนธรรมด้านมารยาทไทยอันเป็นรูปแบบปฏิบัติของคนไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทย ทั้งนี้ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาและการปฏิบัติให้มีความเหมาะสมกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น รายละเอียดดังนี้
ความหมาย มารยาท
“ มารยาท ” หมายถึง กิริยา วาจาที่สุภาพเรียบร้อย ที่บุคคลพึงปฏิบัติในสังคมโดยมีระเบียบแบบแผน อันเหมาะสมตามกาลเทศะ
ขอบข่าย มารยาทไทย
มารยาทไทยครอบคลุมถึงกิริยา วาจาต่าง ๆ เช่น การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การรับของส่งของ การทำความเคารพ การแสดงกิริยาอาการ การรับประทานอาหาร การให้และรับบริการ การทักทาย การสนทนา การใช้คำพูด การฟัง การใช้เครื่องมือสื่อสาร รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติในพิธีการต่าง ๆ
ลำดับความสำคัญมารยาทไทย
มารยาทไทย เป็นเอกลักษณ์สำคัญของคนไทย ควรกำหนดขึ้นไว้เป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
๑ การแสดงความเคารพ๒ การยืน๓ การเดิน๔ การนั่ง๕ การนอน
๖ การรับของส่งของ๗ การแสดงกิริยาอาการ๘ การรับประทานอาหาร๙ การให้และรับบริการ๑๐ การทักทาย
๑๑ การสนทนา๑๒ การใช้คำพูด๑๓ การฟัง๑๔ การใช้เครื่องมือสื่อสาร๑๕ การประพฤติปฏิบัติในพิธีการต่าง ๆ

การยืน
การยืนโดยคำนึงถึงมารยาทจัดเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
๑. การยืนเคารพธงชาติ
๒. การยืนถวายความเคารพสมเด็จพระสังฆราช
๓. การยืนถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ และ พระบรมวงศ์
๔. การยืนในพิธีต่างๆ
๕. การยืนที่ไม่เป็นพิธี
๔. การยืนในพิธีต่างๆ
๔.๑ การยืนเคารพในพิธีที่มีการบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ และเพลงมหาชัย
เพลงมหาฤกษ์ ใช้บรรเลงในการเปิดงานที่เป็นพิธีใหญ่ เช่น พิธีเปิดสถานทำการของรัฐบาล พิธีเปิดทางคมนาคมที่สำคัญๆ และงานที่เป็นมงคลทั่วไป
ใช้บรรเลงต้อนรับประธานของงานผู้มีเกียรติสูง นับตั้งแต่สมเด็จพระบรมราชกุมาร พระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรี หรือเมื่อผู้เป็นประธานของงานกล่าวคำปราศัยจบก็จะบรรเลงเพลงมหาชัยเป็นพิเศษหรือบรรเลงในงานรับรองบุคคลสำคัญ งานสโมสรสันนิบาต เป็นต้น
เมื่อได้ยินเพลงมหาฤกษ์ หรือเพลงมหาชัย บรรเลง ให้ยืนตรงจนกว่าจะจบเพลง ในกรณีที่เป็นพิธีของทางราชการ ผู้ที่เป็นทหารหรือข้าราชการพลเรือน ที่อยู่ในเครื่องแบบให้ปฏิบัติตามระเบียบของราชการทหาร หรือราชการพลเรือนแล้วแต่กรณี
๔.๒ การยืนเคารพในพิธีให้เกียรติแก่ผู้ล่วงลับ ให้ยืนแสดงความเคารพเมื่อได้ยินเสียงแตรเดี่ยว เป่าเพลงนอน หรือเมื่อประธานวางเครื่องขมาหรือจุดเพลิงเผาศพ ไม่ว่าจะมีเพลงประโคมหรือไม่ก็ตาม และเมื่อการเชิญศพผ่านให้ยืนตรงแสดงความเคารพด้วย
๔.๓ การยืนเมื่อประธานในพิธีเดินผ่าน ทุกคนในที่นั้นลุกขึ้นยืนตรงหันหน้าไปทางประธานที่กำลังเดินผ่าน ปล่อยมือไว้ข้างตัว
๔.๔การยืนฟังโอวาท ให้ยืนตรง ชิดเท้า ปล่อยมือไว้ข้างตัว หันหน้าไปทางผู้ให้โอวาท ยกเว้นในกรณีที่ถือประกาศนียบัตร หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯลฯ อยู่ ถ้าถือมือเดียวให้ถือด้วยมือขวาแนบไว้กับอกหรือระดับตั้งฉากกับลำตัว แล้วแต่ทางพิธีจะกำหนด ถ้าถือสองมือให้ถือระดับตั้งฉากกับลำตัว
๔.๕การยืนกล่าวคำปฏิญาณ โอกาสที่กล่าวคำปฏิญาณ เช่น กล่าวคำปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล ถวายสัตย์ปฏิญาณ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ยืนตรง ชิดเท้า หันหน้าไปทางธงหรือพระองค์ท่าน กล่าวคำปฏิญาณของครู นักเรียน และกลุ่มบุคคลต่างๆ อาทิ ไทยอาสาป้องกันชาติ ลูกเสือ เนตรนารี ให้ผู้ที่กล่าวคำปฏิญาณปฏิบัติตามพิธีที่กำหนดไว้ของสถาบันนั้นๆ
๕. การยืนที่ไม่เป็นพิธี
๕.๑ การยืนรับคำสั่ง ให้ยืนตรง ชิดเท้า หน้าตรง ปล่อยมือไว้ข้างตัว

การยืนรับคำสั่ง
๕.๒ การยืนให้เกียรติผู้ใหญ่ การยืนลักษณะนี้ใช้เมื่อเรานั่งสนทนากันอยู่แล้วมีผู้ใหญ่เดินเข้ามาหรืออยู่ร่วมสนทนาด้วย ให้ลุกขึ้นยืนตรง มือประสานกันอยู่ระดับเอว ค้อมตัวเล็กน้อย รอจนผู้ใหญ่นั่งลงแล้วจึงนั่งลง
๕.๓ การยืนสนทนากับผู้ใหญ่ ให้ยืนตรง ชิดเท้า ค้อมตัวเล็กน้อย มือประสานกันอยู่ระดับเอว ไม่ควรยืนชิดหรือห่างผู้ใหญ่จนเกินไป
๕.๔ การยืนคุยกับเพื่อน การยืนพักผ่อน และการยืนดูมหรสพ ควรยืนในลักษณะสุภาพ ไม่ก่อความรำคาญหรือเกะกะกีดขวางผู้อื่น เช่น ยืนพูดข้ามศีรษะ หรือยืนบังผู้อื่นในการยืนดูมหรสพหรือขบวนแห่ เป็นต้น
๕.๕ การยืนเข้าแถวคอย ลักษณะการยืนเช่นเดียวกับข้อ ๕.๔ แต่จะต้องเข้าแถวให้เป็นระเบียบ เรียงลำดับก่อนหลัง ไม่ควรแย่งกัน เช่นการยืนตามลำดับก่อนหลังในการเตรียมขึ้นรถโดยสาร ในการขึ้นเผาศพ ในการรดน้ำอวยพรคู่บ่าวสาว และในการตักอาหารแบบช่วยตัวเอง
๕.๖ การยืนปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่การยืนประกาศ ยืนบรรยาย หรือยืนแสดงปาฐกถา ฯลฯ ควรยืนในลักษณะสุภาพ
๓. การยืนถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ และ พระบรมวงศ์
๓.๑ การยืนรับเสด็จฯ นอกพระที่นั่ง อาคาร หรือแนวทางลาดพระบาทที่รับเสด็จฯถ้าเป็นข้าราชการจัดให้ยืนเรียงแถวตามลำดับยศ ตำแหน่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งกำหนดการเฝ้าฯ เป็นงาน ๆ เช่น แต่งเครื่องแบบเต็มยศ ครื่งยศปกติ โดยปฏิบัติตามระเบียบของเจ้าหน้าที่ หรือผู้รับผิดชอบแนะนำ

ถ้าแต่งเครื่องแบบสวมหมวกทั้งชายหญิงให้ยืนถวายความเคารพด้วยการทำวันทยาหัตถ์ หากไม่สวมหมวกข้าราชการชาย ทหาร ตำรวจ พลเรือนและหญิงที่แต่งเครื่องแบบทหาร ตำรวจ ให้ถวายคำนับโดยก้มศีรษะลงช้า ๆ ต่ำพอสมควรกระทำครั้งเดียวแล้วยืนตรง ถ้าเป็นพยาบาล ที่แม้จะสวมหมวกให้ย่อเข่าที่เรียกกันทั่วไปว่า “ถอนสายบัว”ตามแบบข้าราชการฝ่ายในสำนักพระราชวัง
บุคคลทั่วไปที่มีโอกาสได้เฝ้าฯ แต่มิได้แต่งเครื่องแบบ ชายให้ถวายคำนับ หญิงถวายความเคารพแบบย่อเข่าที่เรียกว่าถอนสายบัว ในกรณีต่างจังหวัด ชนบทพสกนิกร ประชาชนจะยกมือประนม ก้มศีรษะไหว้แบบไทยก็ได้ทั้งชาย หญิง ถ้าสวมหมวกที่มิใช่เครื่องแบบที่ทางราชการกำหนด ให้ถอดหมวก แล้วถวายความเคารพเหมือนผู้ที่ไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ยกเว้นผู้ที่โพกผ้าหรือสวมหมวกตามลัทธิศาสนาของตน
๓.๒ การยืนเฝ้าฯ รับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถฯ สมเด็จพระบรมวงศ์
ให้ยืนถวายความเคารพตามข้อ ๓.๑ แล้วยืนตรงจนกว่าจะเสด็จฯ เลยไป เมื่อประทับพระราชอาสน์ หรือพระเก้าอี้เรียบร้อยแล้ว ถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงเคลื่อนที่ได้และลงนั่งเก้าอี้ตามลำดับตำแหน่ง
ในกรณีที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น เสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย หรือพระราชทานพระบรมราโชวาท ให้ยืนตรงจนกว่าทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนั้นเสร็จ ประทับพระราชอาสน์ หรือพระเก้าอี้แล้ว จึงถวายความเคารพแล้วนั่งลง
ผู้ที่นั่งเฝ้าฯ อยู่ในงานพิธีการต่างๆ เมื่อมีกิจจำเป็นจะต้องไปจากที่นั้น ให้ยืนถวายความเคารพก่อนแล้วจึงออกไป เมื่อกลับมาต้องถวายความเคารพอีกครั้งแล้วจึงนั่งลง
ในกรณีการเฝ้า ฯ ที่ไม่ได้จัดให้นั่งเก้าอี้เฝ้าฯ เช่น งานสโมสรสันนิบาต งานเสด็จออกมหาสมาคม ผู้เฝ้า ฯ จะต้องยืนตลอดเวลาจนกว่าจะเสด็จ ฯ กลับ
๓.๓ การยืนเคารพในพิธีที่มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงสรรเสริญพระบารมีบรรเลงเพื่อถวายความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถฯ สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร หรือผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้แทนพระองค์
การยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในกรณีที่มิได้อยู่ในที่เฝ้าฯ เช่น เมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีบรรเลงเป็นการเปิดหรือปิดงาน หรือเมื่อมหรสพเริ่มหรือเลิก ควรทำความเคารพด้วยการยืนตรง เมื่อเพลงจบให้คำนับโดยก้มศีรษะ ทั้งชายและ หญิง
๑. การยืนเคารพธงชาติ เพลงชาติ หรือธงชัยเฉลิมพลในที่สาธารณะ ให้ยืนตรงแสดงคารวะโดยหันหน้าไปทางธงชาติ เมื่อเพลงจบให้ค้อมศีรษะคำนับ และสำหรับบุคคลทั่วไปเมื่อจะผ่านธงชัยเฉลิมพลให้หยุด และยืนแสดงคารวะ หรือเมื่อมีการเชิญธงชัยเฉลิมพลผ่านก็ให้ยืนตรงแสดงความเคารพเช่นเดียวกัน
๒. การยืนถวายความเคารพสมเด็จพระสังฆราช
๒.๑ เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาถึงมณฑลพระราชพิธีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้ที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ ณ ที่นั้น ถวายความเคารพโดยการยืนประนมมือไหว้ เมื่อเสด็จผ่านแล้วจึงนั่งลง
๒.๒ ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาถึงภายหลัง ให้ถวายความเคารพโดยวิธีนั่งประนมมือไหว้


การเดิน
การเดินโดยคำนึงถึงมารยาท อาจจัดเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้คือ
     ๑ . การเดินในกรณีที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์
    ๒. การเดินในพิธีทางศาสนา
     ๓. การเดินในพิธีต่างๆ
     ๔. การเดินผ่านผู้ใหญ่
     ๕ . การเดินนำหรือเดินตามผู้ใหญ่
     ๖. การเดินโดยทั่วไป
๑. การเดินในกรณีที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์
๑.๑ การเดินนำเสด็จฯ
๑.๑.๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หรือ สมเด็จพระบรมวงศ์ เสด็จฯมาถึง ประธานจัดงานหรือเจ้าภาพที่คอยรับเสด็จฯถวายความเคารพ กราบบังคมทูลแล้วถวายรายงานในโอกาสนี้จะเบิกผู้ที่สมควรเข้าเฝ้าด้วยก็ได้ แล้วจึงเดินนำเสด็จฯ ไปยังสถานที่ที่กำหนด โดยปฏิบัติดังนี้
เดินเยื้องไปข้างหน้าไว้ระยะห่างพอสมควร จะอยู่ด้านใดแล้วแต่สถานที่จะอำนวย แต่โดยปกติผู้นำเสด็จจะอยู่ด้านซ้ายของพระองค์ท่าน ในการเสด็จพระราชดำเนินบนลาดพระบาท ผู้นำเสด็จต้องไม่เดินบนลาดพระบาท
ขณะที่เดิน ผู้นำเสด็จจะต้องเดินในลักษณะสำรวม เมื่อถึงที่ประทับผู้นำเสด็จถวายความเคารพ ก่อนที่จะถอยออกไป ผู้นำเสด็จถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อจะนั่งที่ต้องถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่ง
หมายเหตุ การถวายความเคารพนั้น ให้ผู้นำเสด็จปฏิบัติตามความเหมาะสมแก่เครื่องแบบและเพศของตน
๑.๑.๒. ในกรณีที่ผู้นำเสด็จต้องกราบบังคมทูลถวายคำอธิบายให้ทรงทราบเรื่องเกี่ยวกับสถานที่หรือการแสดงควรปฏิบัติดังนี้
เดินเยื้องไปข้างหน้าระยะห่างพอสมควร พอได้ยินพระราชกระแสและกราบบังคมทูลชี้แจงในเรื่องที่ตรัสถาม ผู้นำเสด็จจะอยู่ด้านใดแล้วแต่สถานที่จะอำนวย แต่โดยปกติจะอยู่ด้านซ้ายของพระองค์ท่านในการนี้ผู้นำเสด็จควรศึกษาเรื่องราวมาล่วงหน้า หรือกราบบังคมทูลเบิกตัวผู้ใดผู้หนึ่งที่มีความรู้ในเรื่องนี้ให้ถวายคำอธิบาย
ผู้นำเสด็จจะต้องเดินในลักษณะสำรวม ไม่เดินเสมอพระองค์ท่าน
๑.๒ การเดินตามเสด็จ ทั้งชายและหญิงให้เดินเบื้องหลังพระองค์ท่าน ในลักษณะสำรวมไม่ยิ้มหัว ทักทายหรือทำความเคารพผู้อื่น ถ้ามีลาดพระบาทผู้ที่เดินตามเสด็จไม่ควรเดินบนลาดพระบาท
๑.๓ การเดินในบริเวณที่ประทับ โดยปกติถ้าพระองค์ท่านประทับอยู่ ไม่ควรเดินผ่านที่ประทับเว้นแต่มีความจำเป็นก็ต้องเดินอย่างสำรวมระวังที่สุด
๑.๓.๑ การเดินผ่านหน้าหรือหลังที่ประทับต้องอยู่ในระยะห่างและพึงกระทำในกรณีที่จำเป็นที่สุด โดยถวายความเคารพดังนี้
- ลุกจากที่นั่ง
- ผ่านที่ประทับ
- กลับเข้าที่ก่อนนั่งลง

๑.๓.๒ การเดินไปทำธุรกิจใดๆ ในบริเวณที่เฝ้าเช่น ยก หรือเลื่อนสิ่งของ พึงถวายความเคารพตามลำดับดังนี้:
- ลุกจากที่นั่ง
- ถึงที่จะทำกิจธุระ
- ทำกิจธุระเสร็จแล้วจะกลับที่นั่งเดิม
- กลับเข้าที่แล้ว ก่อนนั่งลง

๑.๓.๓ การเดินขึ้นและลงเมรุเผาศพ พึงถวายความเคารพตามลำดับดังนี้:
- ลุกจากที่นั่ง
- ผ่านที่ประทับแล้วขึ้นเมรุ
- ลงจากเมรุถึงพื้น
- ผ่านที่ประทับ
- ก่อนนั่ง ณ ที่ของตน

ทั้งสามกรณีดังกล่าว ผู้ปฏิบัติพึงระวังไม่หันหลังไปทางพระองค์ท่าน ยกเว้นเฉพาะผู้ยืนถวายอารักขาเท่านั้น
๒. การเดินในพิธีทางศาสนา
การเดินเวียนเทียนหรือทำประทักษิณ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาหรือในโอกาสอื่นเพื่อแสดงคารวะต่อพระรัตนตรัย ปูชนียวัตถุ หรือปูชนียสถาน เดินเวียนขวา ๓ รอบ โดยให้มีปูชนียวัตถุ หรือปูชนียสถานอยู่ทางขวามือของผู้เดิน และพึงปฏิบัติดังนี้
๒.๑ เดินประนมมือโดยมีดอกไม้ ธูปเทียนพร้อม (ในถิ่นกันดารหาดอกไม้ ธูปเทียนยากจะเพียงประนมมือก็ได้)
๒ .๒ ขณะเดินควรระมัดระวังอย่าให้ธูปเทียนที่จุดไฟอยู่ไปถูกผู้อื่น
๒.๓ ขณะเดินควรระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ที่แนะไว้นี้พอเป็นแนวปฏิบัติ แต่ถ้าผู้ใดจะบำเพ็ญจิตภาวนากำหนดกรรมฐานอย่างอื่น หรือ พรไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้ )

๓ .การเดินในพิธีต่างๆ
๓.๑ การเดินตามศพเวียนเมรุ ให้เดินในลักษณะสำรวม เดินเวียนซ้าย ๓ รอบ โดยให้เมรุอยู่ทางซ้ายของผู้เดิน
๓.๒ การเดินขึ้นและลงเมรุเผาศพ ให้เดินเรียงแถวตามลำดับอย่างมีระเบียบ ไม่แย่งกันชึ้นหรือลงรวมทั้งไม่แย่งกันรับของที่ระลึก
๓ .๓ การเดินในขบวนแห่ ได้แก่ขบวนแห่ในพิธีต่างๆ เช่น แห่องค์กฐิน แห่เทียนพรรษา และแห่พระศพ ฯลฯ ให้เดินอย่างมีระเบียบและถูกต้องตาม กฎจราจร
๓.๔ การเดินเข้า – ออกระหว่างการประชุม โดยมารยาททั่วไป ผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินเข้าหรือออกระหว่างที่กำลังมีการประชุม ควรแสดงความเคารพ ประธานของที่ประชุมทุกครั้งด้วยการไหว้หรือคำนับเมื่อลุกจากที่นั่ง และเมื่อเข้าสู่ที่ประชุม

๔. การเดินผ่านผู้ใหญ่ ขณะที่ผ่านผู้ใหญ่ไม่ควรเดินลงส้น หรือ มีเสียงดัง และต้องผ่านในระยะห่างพอสมควร
๔ . ๑ ขณะผู้ใหญ่ยืน ทั้งชายและหญิงให้เดินผ่านในลักษณะสำรวม ปล่อยมือไว้ข้างตัวและค้อมตัวเมื่อใกล้ถึงผู้ใหญ่
๔ . ๒ ขณะผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้ ทั้งชายและหญิงให้เดินผ่านในลักษณะสำรวม ปล่อยมือไว้ข้างตัว ค้อมตัวพร้อมกับย่อเข่าเมื่อใกล้ถึงผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้อยู่ แต่ถ้าเป็นในบ้านอาจจะใช้วิธีเดินเข่าก็ได้
๔ .๓ ขณะผู้ใหญ่นั่งหรือนอนกับพื้น ทั้งชายและหญิงให้เดินผ่านในลักษณะสำรวมเมื่อถึงที่ผู้ใหญ่นั่งอยู่ให้ทรุดตัวลงเดินเข่า เมื่อผ่านผู้ใหญ่ไปแล้วค่อยลุกขึ้นเดิน
วิธีเดินเข่า ให้คุกเข่าปลายเท้าตั้ง แล้วค่อยสืบเข่าออกทีละข้างเหมือนกับการเดินและค้อมตัวลงเล็กน้อยเมื่อใกล้จะถึงผู้ใหญ่
๕. การเดินนำหรือเดินตามผู้ใหญ่
๕.๑ การเดินนำ เดินระยะห่างพอสมควร จะอยู่ด้านใดแล้วแต่สถานที่จะอำนวย แต่โดยปกติผู้เดินจะอยู่ทางซ้ายของผู้ใหญ่ เดินลักษณะสำรวม
๕ .๒ การเดินตาม เดินเบื้องหลังเยื้องไปทางซ้ายของผู้ใหญ่เดินลักษณะสำรวมระยะห่างพอสมควร
การเดินตามผู้ใหญ่
๖. การเดินโดยทั่วไป หมายถึง การเดินที่ไม่เกี่ยวกับพิธี ได้แก่ เดินการกุศล เดินในที่สาธารณะ เดินกับเพื่อน เดินตามถนน เดินข้ามถนน ถ้าเดินในที่สาธารณะหรือเดินกับเพื่อน ให้เดินโดยไม่กีดขวางทางหรือก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น ถ้าเดินตามถนนให้เดินบนทางเท้า เมื่อจะข้ามถนนให้ปฏิบัติตามกฎจราจร ควรใช้สะพานลอยหรือทางข้าม (ทางม้าลาย) แม้การเดินในทางข้ามก็ควรระมัดระวังพอสมควร

การนั่ง
การนั่งโดยคำนึงถึงมารยาท อาจจัดเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
๑. การนั่งพับเพียบ
๒. การนั่งขัดสมาธิ
๓. การนั่งหมอบ
๔. การนั่งคุกเข่า
๕. การนั่งเก้าอี้
๖. การนั่งเล่นหรือนั่งพักผ่อน

การนั่งหมอบ
การนั่งหมอบ นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้า หมอบลงไปให้ศอกข้างใดข้างหนึ่งลงถึงพื้น ถ้าขาใดแนบพื้นก็ให้ศอกข้างนั้นลงถึงพื้นด้วย มือประสานกัน ไม่ก้มหน้า สายตาทอดลงต่ำ การนั่งลักษณะนี้ใช้ได้ทั้งชาย หญิงเมื่อเข้าเฝ้า หรือรอรับเสด็จแบบไทย

การนั่งคุกเข่าปลายเท้าตั้ง (แบบเทพบุตร)
๔. การนั่งคุกเข่า คือการนั่งย่อเข่าลงให้ติดพื้นมี ๔ แบบดังนี้คือ
๔.๑ การนั่งคุกเข่าปลายเท้าตั้ง นั่งตัวตรง ปลายเท้าตั้ง นั่งลงบนส้นเท้า มือทั้งสองข้างคว่ำบนหน้าขาทั้งสองข้าง (แบบเทพบุตร) การนั่งลักษณะนี้ใช้นั่งเมื่อผู้ชายจะกราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์ หรือ ใช้นั่งในท่าถวายบังคมทั้งชายและหญิง

การนั่งคุกเข่าปลายเท้าราบ (แบบเทพธิดา)
๔.๒ การนั่งคุกเข่าปลายเท้าราบ นั่งตัวตรง ปลายเท้าราบ นั่งลงบนฝ่าเท้า มือทั้งสองข้างวางคว่ำบนหน้าขาทั้งสองข้าง (แบบเทพธิดา) การนั่งลักษณะนี้ใช้นั่งเมื่อผู้หญิงจะกราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์

การนั่งคุกเข่าประนมมือ
๔.๓ การนั่งคุกเข่าประนมมือ คือ การนั่งคุกเข่าแบบเทพบุตร หรือ นั่งคุกเข่าแบบเทพธิดา ให้นิ้วมือแนบชิดกัน ไม่กางศอก การนั่งลักษณะนี้ใช้เมื่อกราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์ ในจังหวะที่ ๑ ของชายและหญิง การนั่งคุกเข่าประนมมืออีกวิธีหนึ่งคือ การนั่งคุกเข่าแบบเทพบุตร โดยประนมมือเหนืออกให้นิ้วมือแนบชิดกัน ไม่กางศอก ใช้ได้ทั้งหญิงและชาย เมื่อถวายบังคมในจังหวะที่ ๑
๔๔ การนั่งคุกเข่าแบบลูกเสือ (ถวายราชสดุดี) คือการนั่งคุกเข่าตามแบบลูกเสือที่ปฏิบัติอยู่ เมื่อประธานมีคำสั่งให้ถวายราชสดุดี แล้วก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าครึ่งก้าว คุกเข่าลง ตั้งเข่าซ้าย นั่งลงบนส้นเท้าขวา มือขวาแบคว่ำลงบนเข่าขวา แขนซ้ายวางพาดบนเข่าซ้ายเอียงไปทางขวาเล็กน้อย เมื่อร้องเพลงราชสดุดีให้ก้มหน้าเล็กน้อย และให้เงยหน้าขึ้นตามเดิมเมื่อเพลงจบ (ถ้าถือหมวกอยู่ด้วยให้ปฏิบัติตามคู่มือระเบียบแถวของสำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ)
๕. การนั่งเก้าอี้
๕.๑ การนั่งเก้าอี้โดยทั่วไป คือ นั่งตามสบาย ถ้าเป็นเก้าอี้ที่มีเท้าแขนจะเอาแขนวางพาดก็ได้ ไม่ควรนั่งโยกเก้าอี้ นั่งได้ทั้งชายและหญิง เมื่อสนทนาอยู่กับเพื่อนหรือนั่งในที่ต่างๆ ที่ไม่เป็นพิธีการ
๕.๒ การนั่งเก้าอี้ต่อหน้าผู้ใหญ่ เป็นการนั่งโดยสำรวมกิริยาและสายตาตามสมควร ไม่ก้มหน้า นั่งท่าใดท่าหนึ่งดังต่อไปนี้
๕.๒.๑ นั่งเก้าอี้ตัวตรง หลังไม่พิงพนักเก้าอี้ มือทั้งสองข้างประสานกันวางบนหน้าขา
ในกรณีที่มีการสวดถวายอติเรกหรือถวายพระพรลา ผู้อยู่ในที่เฝ้าไม่ต้องประนมมือ เพราะเป็นการสวดถวายพระพรที่เจาะจงเฉพาะพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

การนั่งเก้าอี้ต่อหน้าผู้ใหญ่อาวุโสไม่มาก

การพับเพียบต่อหน้าผู้ใหญ่
๖. การนั่งเล่นหรือนั่งพักผ่อน คือ การนั่งในกิริยาบถตามสบาย จะนั่งในลักษณะใดก็ได้ตามความพอใจ เช่น นั่งกับพื้น แต่เมื่อผู้ใหญ่ผ่านเข้ามาในที่นั้นควรนั่งสำรวม ไม่ไขว่ห้าง ไม่กระดิกเท้าหรือเหยียดเท้าไปทางผู้ใหญ่
๑. การนั่งพับเพียบ คือการนั่งราบกับพื้น พับขา ให้ขาขวา ทับขาซ้าย หรือขาซ้ายทับขาขวา อาจแบ่งออกได้เป็น ๔ อย่าง ดังต่อไปนี้
๑.๑ การนั่งพับเพียบธรรมดา คือ การนั่งพับเพียบวางมือไว้บนหน้าขา หรือเอามือท้าวพื้นก็ได้ โดยให้ปลายนิ้วมือเหยียดไปข้างหน้า ถ้านั่งขาขวาทับขาซ้ายให้ใช้มือซ้ายท้าวพื้น ถ้านั่งขาซ้ายทับขาขวาให้ใช้มือขวาท้าวพื้นอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่สะดวกและเหมะสม ลักษณะนี้ใช้ในการนั่งสนทนากับเพื่อนหรือนั่งอยู่ตามลำพัง
การนั่งพับเพียบธรรมดา
๑.๒ การนั่งพับเพียบต่อหน้าผู้ใหญ่ อาจนั่งท่าใดท่าหนึ่งตามความเหมาะสม แต่ไม่ควรท้าวแขน สายตาทอดลงเล็กน้อย และไม่จ้องตาผู้ใหญ่จนเสียกิริยา การนั่งลักษณะนี้ใช้ได้ทั้งชายและหญิง คือ
การนั่งพับเพียบต่อหน้าผู้ใหญ่

นั่งพับเพียบตัวตรง

นั่งพับเพียบค้อมตัว
๑.๒.๑ นั่งพับเพียบ ตัวตรง เก็บปลายเท้าโดยเบนปลายเท้าเข้าหาสะโพก มือทั้งสองข้างประสานกันวางไว้บนหน้าขา ถ้านั่งพับเพียบขาขวาทับขาซ้าย วางมือที่ประสานบนหน้าขาซ้าย ถ้านั่งพับเพียบขาซ้ายทับขาขวาวางมือที่ประสานบนหน้าขาขวา หรือบริเวณหน้าขาจุดใดจุดหนึ่งที่เหมาะสมและสวยงาม
วิธีประสานมือ ให้ปฏิบัติในอาการที่สำรวม อาจใช้อย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
ใช้มือซ้ายหงาย มือขวาคว่ำทับ หรือมือขวาหงายมือซ้ายคว่ำทับ
ใช้มือทั้งสองคว่ำทับกัน จะเป็นมือใดทับมือใดก็ได้
สอดนิ้วระหว่างช่องนิ้วของแต่ละมือ คล้ายการประนมมืออย่างหลวมๆ
ถ้าเป็นการเข้าพบผู้ใหญ่เพื่อนำของไปให้ หรือเมื่อสนทนากับผู้ใหญ่แล้วผู้ใหญ่ให้ของ ควรจะนั่งพับเพียบขาขวาทับขาซ้าย เพื่อสะดวกในการรับของจากผู้ใหญ่ เพราะเราจะส่งของหรือรับของกันด้วยมือขวา
๑.๒.๒ นั่งพับเพียบค้อมตัวเก็บปลายเท้า วางแขนทั้งสองข้างลงบนหน้าขา มือประสานกันอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ ๑.๒.๑
๑.๓ การนั่งพับเพียบประนมมือ คือ การนั่งพับเพียบโดยประนมมือให้นิ้วมือแนบชิดกัน ฝ่ามือราบปลายนิ้วตั้งขึ้น แขนแนบตัวระดับอก ไม่กางศอก การนั่งลักษณะนี้ใช้ในโอกาสที่นั่งฟังพระเทศน์ ฟังพระสวดมนต์ เมื่อตนเองสวดมนต์รับฟังโอวาท หรือรับพรจากผู้ใหญ่ ใช้ได้ทั้งชายและหญิง
๑.๔ การนั่งพับเพียบในพิธีการ คือ การนั่งพับเพียบในอาการสำรวมตลอดเวลา
หมายเหตุ ขณะที่นั่งพับเพียบดังกล่าวตามข้อ ๑.๒.๑ และ ๑.๔ ข้างต้น ไม่ควรพูดคุยหรือส่งเสียงดังถ้านั่งนานและประสงค์จะเปลี่ยนท่านั่ง ให้ใช้มือทั้งสองข้างท้าวพื้นหรือเข่า ปล่อยนิ้วมือเหยียดไปข้างหน้า กดเข่าทั้งสองกับพื้นแล้วเปลี่ยนท่านั่งตามสะดวก
๒ การนั่งขัดสมาธิ (สะหมาด) คือการนั่งตามสบายอย่างหนึ่งและการนั่งแบบทำสมาธิ
การนั่งขัดสมาธิธรรมดา คือ การนั่งบนพื้น คู้เข่าทังสองข้างหาตัว แนบขาลงกับพื้น โดยให้ขาข้างหนึ่งช้อนทับอยู่บนอีกข้างหนึ่ง ส้นเท้าทั้งสองข้างจะสัมผัสกับขา เป็นอิริยาบถที่ใช้นั่งตามลำพังสบายๆ หรือ สำหรับชายนั่งกับพื้นรับประทานอาหาร
การนั่งขัดสมาธิที่ใช้ในทางศาสนา มี ๒ แบบ คือ การนั่งขัดสมาธิราบ และการนั่งขัดสมาธิเพชร
การนั่งขัดสมาธิราบ คือ การนั่งขัดสมาธิสองชั้น โดยเอาขาซ้อนทับกัน เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วหัวแม่มือจรดกัน ตั้งกายส่วนบนให้ตรง การนั่งขัดสมาธิราบนี้ใช้นั่งในการเจริญภาวนาทำจิตใจให้สงบ ซึ่งเป็นการปฏิบัติกรรมฐานเมื่อนั่งแบบนี้จะมีผลให้เนื้อหนังและเอ็นไม่ขด แม้นั่งนานทุกขเวทนาก็จะไม่บังเกิดขึ้น การบำเพ็ญภาวนาทางจิตใจจะได้ผล
การนั่งขัดสมาธิเพชร คือ การนั่งขัดสมาธิโดยคู้เข่าทั้งสองข้าง เอาฝ่าเท้าทั้งสองขัดหรือไขว้ขึ้นวางบนหน้าขา ท่านั่งขัดสมาธิแบบนี้ต้องใช้การฝึกหัดให้เกิดความชำนาญ โดยการหัดนั่งขัดสมาธิราบ หรือขัดสมาธิสองชั้นได้ชำนาญแล้ว
วิธีฝึกหัด ให้นั่งลงบนพื้น ปล่อยให้ขาพักอยู่ตรงหน้าแล้วจึงค่อยดึงขาซ้ายงอมุมฉากกับร่างกาย ใช้ส้นเท้าซ้ายนั้นพักอยู่บนพื้น แล้วจับเท้าขวาขึ้นวาง บนต้นขาซ้าย ให้ส้นเท้าขวาชิดกับหน้าขา อย่าให้เท้าขวาเป็นที่ทรมานหรืออืดอัด ขยับเข่าซ้ายที่งออยู่ให้เข้ามาชิดตัว ยกข้อเท้าซ้ายขึ้นแล้ววางหลังมือซ้ายลงบนต้นขาขวา ให้ส้นเท้าจรดกับหน้าขาขวา เมื่อขัดสมาธิแบบนี้ได้แล้วยืดกายท่อนบนให้ตรงแบบนั่งขัดสมาธิราบ นั่งขัดสมาธิแบบนี้เรียกว่า “ขัดสมาธิเพชร” หรือเรียกว่า “นั่งท่าดอกบัว”(ปัทมาสนะ) ใช้นั่งบริกรรมภาวนา หรือ ปฏิบัติโยคะ


การนอน
                   อันที่จริงเรื่องการนอนเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่น่าเกี่ยวข้องอะไรกับมารยาทหรือสังคม แต่บางกรณีในการเดินทางและนอนพักรวมกันเป็นกลุ่ม หรือการนอนที่อาจมีผู้เห็นอาการอันไม่ดีงามก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับมารยาทอยู่เหมือนกัน
                   ในพระวินัย มีบทบัญญัติปรับอาบัติแก่พระภิกษุ ผู้นอนกลางวันโดยไม่ปิดประตู เพื่อป้องกันมิให้มีผู้เห็นกิริยาอาการอันไม่เหมาะสม
                   แม้ท่านสุนทรภู่ก็กล่าวไว้ในสุภาษิตสอนหญิงว่า
                   “แม้สมรจะไม่นอนที่เรือนไหน อย่าหลับใหลลืมกายจนสายสาง ใครเห็นเข้าเขาจะเล่านินทานาง ความกระจ่างออกกระจายเพราะกายตัว
                   การนอนเป็นการพักผ่อนในลักษณะที่เอนร่างกายทอดราบลงไปบนที่นอน ซึ่งอาจอยู่บนเตียงหรือที่พื้นก็ได้ การนอนโดยคำนึงถึงมารยาทด้วยนั้น อาจจำแนกได้เป็น ๔ ประการดังนี้
๑. การนอนในที่เฉพาะส่วนตัว๒. การนอนเมื่อไปพักบ้านผู้อื่น๓. การนอนในยานพาหนะขณะเดินทาง
๔. การนอนเมื่อไปพักแรมเป็นหมู่คณะ
           การนอนแต่ละลักษณะมีส่วนที่แตกต่างกันไปบ้างดังนี้
๑. การนอนในที่เฉพาะส่วนตัว
          เมื่อนอนในที่เฉพาะส่วนตัว คนเราจะนอนอย่างไรก็ได้ตามความพอใจ แต่ก็ควรคำนึงถึงมารยาทและเรื่องต่าง ๆ บ้าง เช่น
๑.๑ ใช้เสื้อผ้าหรือชุดนอนที่สวมสบาย ไม่ประเจิดประเจ้อ
๑.๒ ก่อนนอนควรไหว้พระสวดมนต์หรือแผ่เมตตา เพื่อให้นอนหลับอย่างมีสติและมีความสวัสดี ไม่ควรนอนเหยียดเท้าไปทางพระพุทธรูป หรือสิ่งที่พึงเคารพบูชา
๑.๓ นอนในท่าที่ถูกสุขลักษณะ เช่น นอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าให้เหลื่อมกันเล็กน้อย เหยียดแขนและขาให้สบายตามธรรมชาติ การนอนท่านี้ช่วยมิให้นอนทับหัวใจ การนอนหงายก็ถือเป็นท่าที่ถูกสุขลักษณะเช่นกัน
๑.๔ นอนให้เรียบร้อยตามสมควร ซึ่งรวมไปถึงการนอนอย่างสงบสำรวมระวังอันอาจช่วยมิให้นอนกัดฟัน และละเมอ เป็นต้น
๑.๕ ไม่ควรทำความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อยู่ห้องใกล้เคียง หรือบ้านใกล้เคียง เช่น ทำเสียงดังเกินควรในยามวิกาล
๑.๖ เมื่อตื่นนอนแล้ว ควรจัดเก็บเครื่องนอนให้เรียบร้อย และควรทำจิตใจให้ผ่องใสไม่หงุดหงิด
๒. การนอนเมื่อไปพักบ้านผู้อื่น
           ในกรณีที่ไปพักบ้านผู้อื่น หรือเพื่อนที่คุ้นเคยกัน แม้จะสนิทสนมกันก็ควรคำนึงถึงมารยาทที่พึงปฏิบัติอยู่บ้าง ผู้ไปพักบ้านผู้อื่นควรปฏิบัติเช่นเดียวกับการนอนในที่เฉพาะส่วนตัว แต่ควรเน้นเป็นพิเศษในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๒.๑ ไม่ควรไปค้างบ้านผู้อื่นในยามดึกหรือกลับดึกโดยไม่มีเหตุอันจำเป็นเพราะเจ้าของบ้านจะเดือดร้อนในการเปิดประตูต้นรับ หรือให้ความสะดวกต่าง ๆ
๒.๒ ควรมีความเกรงใจ คำนึงถึงความต้องการของเจ้าของบ้าน ไม่ถือแต่ประโยชน์สุขส่วนตัว และไม่เรียกร้องขอความสะดวกสบายจากเจ้าของบ้านจนเกินควร เช่น ใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมนานเกินไป ขอใช้บริการเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งในบ้านมีจำนวนจำกัด
๒.๓ ไม่ทำสิ่งใดอันจะเป็นการรบกวน หรือก่อความรำคาญให้แก่กันและกัน เช่นทำเสียงดังเป็นเหตุให้เจ้าของบ้านตกใจตื่น ชวนคุยโดยไม่คำนึงว่าอีกฝ่ายหนึ่งต้องการจะพักผ่อน
๒.๔ ควรขออนุญาตเจ้าของบ้านก่อนที่จะทำสิ่งใดอันเกี่ยวข้องกับเจ้าของบ้าน เช่น ขอพูดโทรศัพท์ ขอใช้รถ ฯลฯ
๒.๕ ควรช่วยรักษาความสะอาดตามสมควร ซึ่งถือเป็นมารยาทอันดี<
           อนึ่ง ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านก็ควรอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาพักและมีความเกรงใจไม่ทำสิ่งใดอันอาจก่อความรำคาญและรบกวนผู้มาพักเช่นกัน
๓. การนอนในยานพาหนะขณะเดินทาง
          ผู้ที่เดินทางระยะไกล และต้องค้างคืนในยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารปรับอากาศ รถไฟ ฯลฯ จำเป็นต้องคำนึกถึงมารยาทที่พึงปฏิบัติบางประการ เช่น
๓.๑ แต่งกายสุภาพ ไม่ปล่อยตัวตามสบาย อย่างที่เคยปฏิบัติเมื่ออยู่ในบ้านของตน
๓.๒ ไม่ส่งเสียงคุยเอะอะ อันจะทำให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ที่ต้องการพักผ่อน
๓.๓ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ก่อความรำคาญ หรือชวนพูดคุยโดยไม่คำนึงว่าเป็นเวลาอันเหมาะสมหรือไม่
๓.๔ ไม่ใช้ที่นั่งหรือที่นอนเกินสิทธิที่ตนพึงมีได้
๓.๕ หากประสงค์จะให้พนักงานบริการสิ่งใดเป็นพิเศษ ควรขอร้องอย่างสุภาพ
๓.๖ ในกรณีที่เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศ ซึ่งสามารถปรับที่นั่งให้เอนนอนได้ควรหรับที่นั่งในเวลาอันควร โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้นั่งข้างเคียงด้วย เพราะอาจทำให้เขามิได้รับความสะดวก
๓.๗ ในกรณีที่ค้างคืนในรถไฟ ซึ่งจัดให้มีที่นอนในรถ ควรปฏิบัติเป็นพิเศษในเรื่องต่อไปนี้
ก. ควรรอให้พนักงานปูที่นอนทำงานของเขาตามลำดับก่อนหลังไม่เรียกร้อง ให้บริการตนเป็นพิเศษ
ข. ผู้ที่ขึ้นไปนอนชั้นบน ควรกล่าวคำขออภัยด้วยมารยาทอันดีต่อผู้นอนชั้นล่าง และถ้าไม่มีกิจจำเป็นก็ไม่ควรปีนขึ้นปีนลงบ่อยครั้ง
ค. แม้จะมีม่านบังที่นอนไว้ ก็ควรนอนอย่างสงบเรียบร้อย
๔. การนอนเมื่อไปพักแรมเป็นหมู่คณะ
          ในกรณีที่ไปพักแรมเป็นหมู่คณะ ที่พักอาจเป็นห้องโถงที่จัดไว้สำหรับคนจำนวนมาก ผู้พักอาศัยควรคำนึงถึงมารยาทที่พึงปฏิบัติระหว่างกันให้มากขึ้น เช่น
๔.๑ ไม่แสวงหาความสะดวกสบายส่วนตัวจนลืมนึกถึงผู้อื่น
๔.๒ ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ผู้อื่นที่มาทีหลังในการจัดหาเครื่องใช้ในการนอนเป็นการแสดงน้ำใจต่อกันในยามจำเป็น
๔.๓ ไม่ส่งเสียงคุยเอะอะหรือเดินเสียงดัง เป็นการก่อความรำคาญแก่ผู้ที่ต้องการพักผ่อน
๔.๔ เมื่อมีผู้เจ็บป่วยต้องการความช่วยเหลือ ควรรีบช่วยด้วยความเต็มใจ เช่น แจ้งผู้ดูแลที่พักเพื่อให้การปฐมพยาบาลทันท่วงที
๔.๕ ไม่เรียกร้องความสะดวกสบายเกินสิทธิที่แต่ละคนพึงมีพึงได้
๔.๖ แสดงความขอบคุณผู้ให้ที่พักก่อนอำลาจากกันด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี
๔.๗ ปฏิบัติตามระเบียบของเจ้าของสถานที่

การแสดงความเคารพ
รายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงความเคารพเป็นเอกลักษณ์สำคัญของคนไทยเป็นเรื่องแรก การแสดงความเคารพมีหลายลักษณะ เช่น การประนมมือ การไหว้ การกราบ การคำนับ การถวายความเคารพ การที่จะแสดงความเคารพในลักษณะใดนั้น ต้องพิจารณาผู้ที่จะรับความเคารพด้วยว่าอยู่ในฐานะเช่นใด หรือในโอกาสใด แล้วจึงแสดงความเคารพให้ถูกต้องและเหมาะสม การแสดงความเคารพแบ่งได้ดังนี้ คือ
๔.๑ การไหว้
การปฏิบัติในท่าไหว้ประกอบด้วยกิริยา ๒ ส่วน คือ การประนมมือและการไหว้
การประนมมือ (อัญชลี) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือให้นิ้วมือทั้งสองข้างชิดกัน ฝ่ามือทั้งสองประกบเสมอกันแนบหว่างอก ปลายนิ้วเฉียงขึ้นพอประมาณ แขนแนบตัวไม่กางศอก ทั้งชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน การประนมมือนี้ใช้ในการสวดมนต์ ฟังพระสวดมนต์ ฟังพระธรรมเทศนา ขณะสนทนากับพระสงฆ์ รับพรจากผู้ใหญ่ แสดงความเคารพผู้เสมอกัน และรับความเคารพจากผู้อ่อนอาวุโสกว่า เป็นต้น
การไหว้ (วันทนา) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือแล้วยกมือทั้งสองขึ้นจรดใบหน้าให้เห็นว่าเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง การไหว้แบบไทย แบ่งออกเป็น ๓ แบบ ตามระดับของบุคคล
ระดับที่ ๑ การไหว้พระ ได้แก่ การไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว ปลายนิ้วแนบส่วนบนของหน้าผาก
ระดับที่ ๒ การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพนับถือ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วแนบระหว่างคิ้ว
ระดับที่ ๓ การไหว้บุคคลทั่ว ๆ ไป ที่เคารพนับถือหรือผู้มีอาวุโสสูงกว่าเล็กน้อย โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วแนบปลายจมูก
อนึ่ง สำหรับหญิงการไหว้ทั้ง ๓ ระดับ อาจจะถอยเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามถนัดไปข้างหลังครึ่งก้าวแล้วย่อเข่าลงพอสมควรพร้อมกับยกมือขึ้นไหว้ก็ได้
๔.๒ การกราบ (อภิวาท) เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง มี ๒ แบบ คือ
๔.๒.๑ การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ เป็นการใช้อวัยวะทั้ง ๕ คือ หน้าผาก ซึ่งเป็นตัวแทน
ของส่วนบนของร่างกาย มือและข้อศอกทั้ง ๒ เป็นตัวแทนส่วนกลางของร่างกาย เข่าทั้ง ๒ ซึ่งเป็นตัวแทนส่วนล่างของร่างกายจรดพื้น การกราบมี ๓ จังหวะ คือ
ท่าเตรียม
ชาย นั่งคุกเข่าตัวตรงปลายเท้าตั้ง ปลายเท้าและส้นเท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า เข่าทั้งสองห่างกัน
พอประมาณ มือทั้งสองวางคว่ำบนหน้าขา ทั้งสองข้าง นิ้วชิดกัน (ท่าเทพบุตร)
หญิง นั่งคุกเข่าตัวตรง ปลายเท้าราบ เข่าถึงปลายเท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า มือทั้งสองวางคว่ำ
บนหน้าขา ทั้งสองข้าง นิ้วชิดกัน (ท่าเทพธิดา)
ท่ากราบ
จังหวะที่ ๑ (อัญชลี) ยกมือขึ้นในท่าประนมมือ
จังหวะที่ ๒ (วันทนา) ยกมือขึ้นไหว้ตามระดับที่ ๑ การไหว้พระ
จังหวะที่ ๓ (อภิวาท) ทอดมือทั้งสองลงพร้อม ๆ กัน ให้มือและแขนทั้งสองข้างราบกับพื้น
คว่ำมือห่างกันเล็กน้อยพอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้
ชาย ศอกทั้งสองข้างต่อจากเข่าราบไปกับพื้น หลังไม่โก่ง
หญิง ศอกทั้งสองข้างคร่อมเข่าเล็กน้อย ราบไปกับพื้น หลังไม่โก่ง จากนั้นก้มศีรษะลงให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือทั้งสอง
ทำสามจังหวะให้ครบ ๓ ครั้ง แล้วยกมือขึ้นไหว้ในท่าไหว้พระ แล้ววางมือคว่ำลงบนหน้าขา
ในท่าเตรียมกราบ จากนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถตามความเหมาะสม
๔.๒.๒ การกราบผู้ใหญ่ กราบผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสรวมทั้งผู้มีพระคุณ ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพ ผู้กราบทั้งชายและหญิงนั่งพับเพียบทอดมือทั้งสองข้างลงพร้อมกันให้แขนทั้งสองคร่อมเข่าที่อยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประนมตั้งกับพื้นไม่แบมือ ค้อมตัวลงให้หน้าผากแตะส่วนบนของมือที่ประนม ในขณะกราบไม่กระดกนิ้วมือขึ้นรับหน้าผาก กราบเพียงครั้งเดียว จากนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถโดยการนั่งสำรวมประสานมือ จากนั้นเดินเข่าถอยหลังพอประมาณแล้วลุกขึ้นจากไป
๔.๓ การคำนับ
เป็นการแสดงเคารพแบบสากล ในกรณีที่ไม่ไหว้หรือกราบ ให้ยืนตัวตรง ส้นเท้าชิดกัน ปลายเท้าห่างกันเล็กน้อย มือปล่อยไว้ข้างลำตัว ปลายนิ้วกลางแตะตะเข็บกางเกงหรือกระโปรงด้านข้าง ค้อมช่วงไหล่และศีรษะลงเล็กน้อย แล้วเงยหน้าขึ้นในท่าตรง การคำนับนี้ ส่วนมากเป็นการปฏิบัติของชาย แต่หญิงให้ใช้ปฏิบัติได้เมื่อแต่งเครื่องแบบและไม่ได้สวมหมวก
๔.๔ การแสดงความเคารพพระมหากษัตริย์
๔.๔.๑ การถวายบังคม เป็นราชประเพณีถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ในงานพระราชพิธี
สำคัญ ก่อนที่จะถวายบังคมต้องนั่งอยู่ในท่าเตรียมคือ นั่งคุกเข่าปลายเท้าตั้ง นั่งบนส้นเท้าเช่นเดียวกันทั้งชาย
หญิง มือทั้งสองวางคว่ำเหนือเข่าทั้งสองข้าง ชายนั่งแยกเข่าได้เล็กน้อยหญิงนั่งเข่าชิด
การถวายบังคมแบ่งออกเป็น ๓ จังหวะ ดังนี้
จังหวะที่ ๑ ยกมือขึ้นประนมระหว่างอก ปลายนิ้วตั้งขึ้นแนบตัวไม่กางศอก
จังหวะที่ ๒ ยกมือที่ประนมขึ้น ให้ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดหน้าผากเงยหน้าขึ้นเล็กน้อย
จังหวะที่ ๓ ลดมือกลับลงตามเดิมมาอยู่ในจังหวะที่ ๑
ทำให้ครบ ๓ ครั้ง โดยจบลงอย่างจังหวะที่ ๑ แล้วจึงลดมือลงวางคว่ำเหนือเข่าทั้งสองข้าง
การถวายบังคมดังกล่าวนี้ หญิงมีโอกาสใช้น้อย จะใช้ในกรณีที่มีชายกับหญิงไปถวายบังคมร่วมกัน ถ้าหญิงล้วนให้ใช้วิธีหมอบกราบ
๔.๔.๒ การหมอบกราบ ให้แสดงความเคารพพระมหากษัตริย์ลงมาถึงพระบรมวงศ์
ในโอกาสที่เข้าเฝ้า โดยนั่งพับเพียบเก็บปลายเท้าแล้วจึงหมอบลงให้ศอกทั้งสองข้างถึงพื้นคร่อมเข่าอยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประสาน เมื่อจะกราบให้ประนมมือก้มศีรษะลง หน้าผากแตะส่วนบนของมือที่ประนม เมื่อกราบแล้วนั่งในท่าหมอบเฝ้าอีกครั้งหนึ่ง แล้วทรงตัวนั่งในท่าพับเพียบตามเดิม
๔.๔.๓ การถวายความเคารพแบบสากล ใช้กับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์
ชาย ใช้วิธีการถวายคำนับ โดยค้อมตัวต่ำพอสมควร
หญิง ใช้วิธีการถวายความเคารพแบบย่อเข่า (ถอนสายบัว) มี ๒ แบบคือ
แบบสากลนิยม ยืนตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่านวาดเท้าข้างใดข้างหนึ่งไป
ข้างหลังเล็กน้อยตามถนัด พร้อมกับย่อตัวลง ลำตัวตรง หน้าตรง สายตาทอดลง ปล่อยแขนทั้งสองข้างแล้วยืนตรง
แบบพระราชนิยม ยืนตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่านวาดเท้าข้างใดข้างหนึ่ง
ไปข้าหลังเล็กน้อยตามถนัด พร้อมกับย่อตัวลง ขณะที่วาดเท้า ให้ยกมือทั้งสองข้างขึ้นวางประสานกันบนขาหน้าเหนือเข่า ค้อมตัวเล็กน้อย ทอดสายตาลง เสร็จแล้วยืนขึ้นในลักษณะเดิม
๔.๕ การแสดงความเคารพโดยทั่วไป
๔.๕.๑ การแสดงความเคารพศพ จะต้องกราบพระพุทธรูปเสียก่อน แล้วจึงไปทำความเคารพ
ศพส่วนการจุดธูปหน้าศพนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของลูกหลานหรือศิษยานุศิษย์หรือผู้เคารพนับถือที่ประสงค์จะบูชา
การเคารพศพพระ ถ้าเจ้าภาพจัดให้มีการจุดธูป ให้จุด ๓ ดอก ชายกราบแบบ
เบญจางคประดิษฐ์ หญิงหมอบกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง
การเคารพศพคฤหัสถ์ ให้ทำความเคารพเช่นเดียวกับตอนที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเป็นศพของผู้
ที่มีอาวุโสมาก กราบ ๑ ครั้ง แต่ถ้าเป็นศพของผู้ที่มีอาวุโสใกล้เคียงกันกับผู้ที่ไปทำความเคารพ ให้ไหว้ในระดับที่ ๓ (ไหว้บุคคลทั่ว ๆ ไป) ส่วนการเคารพศพเด็กนั้นมีเพียงยืนสงบหรือนั่งสำรวมครู่หนึ่งในกรณีที่ศพได้รับพระราชทานเกียรติยศ ผู้เป็นประธานจุดธูปเทียนที่หน้าพระพุทธรูปและที่หน้าตู้พระธรรม แล้วไปจุดเครื่องทองน้อยที่หน้าศพเพื่อแสดงว่าวายชนม์บูชาพระธรรม แล้วจึงเคารพศพ
ส่วนผู้ไปในงาน กราบพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชาแล้วจึงเคารพศพด้วยการกราบหรือคำนับ
๔.๕.๒ การเคารพอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญอาจเป็นรูปปั้น ภาพถ่าย
ภาพวาดหรือสัญลักษณ์อื่นก็ได้ ให้แสดงความเคารพด้วยการคำนับหรือกราบ หรือไหว้แล้วแต่กรณีในโอกาสพิเศษหรือเป็นพิธีการ เช่น เมื่อครบรอบวันเกิด หรือ วันสำคัญที่เกี่ยวข้องอันเป็นพิธีการให้ใช้พุ่มดอกไม้ ถ้าครบรอบวันตายหรือแสดงความระลึกถึงอันเป็นพิธีการให้วางพวงมาลาในโอกาสอื่น ๆ ที่ไม่เป็นพิธีการอาจแสดงความเคารพโดยใช้ หรือไม่ใช้เครื่องสักการะก็ได้
๔.๕.๓ การแสดงความเคารพของผู้เป็นประธาน ณ ที่บูชา เมื่อประธานในพิธีลุกจากที่นั่งเพื่อ
ไปบูชาพระรัตนตรัย ผู้ร่วมพิธียืนขึ้น และเมื่อประธานเริ่มจุดธูปเทียน ผู้ร่วมพิธีประนมมือเสมออกเมื่อประธานกราบ ผู้ร่วมพิธียกมือที่ประนมขึ้นให้นิ้วชี้จรดหน้าผากพร้อมทั้งก้มศีรษะเล็กน้อย หากที่บูชามีธงชาติ
และพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย เมื่อประธานบูชาพระรัตนตรัยเสร็จแล้ว ให้ยืนขึ้นถอยหลัง ๑ ก้าว ยืนตรง ค้อมศีรษะคารวะครั้งเดียว ซึ่งถือว่าได้เคารพต่อธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ไปพร้อมกันแล้วให้ประธานปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ทั้งชายและหญิงทั้งที่อยู่ในและนอกเครื่องแบบเมื่อจบพิธีแล้วประธานควรกราบพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมยืนขึ้นด้วยอาการสำรวม แล้วจึงไหว้ลาพระรัตนตรัยเป็นอันเสร็จพิธี แต่ในกรณีที่ยังมีกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น ประธานทักทายสังสรรค์กับผู้เข้าร่วมประชุม หรือดื่มน้ำชา และประธานอยู่ร่วมกิจกรรมด้วย เมื่อประธานจะกลับ ไม่จำเป็นต้องกราบพระรัตนตรัย
๔.๕.๔ การแสดงความเคารพของผู้ที่แต่งเครื่องแบบ ให้ปฏิบัติตามระเบียบของสถาบันนั้น
๔.๖ การรับความเคารพ เมื่อผู้น้อยมาทำความเคารพ ควรรับความเคารพด้วยการประนมมือหรือ
ค้อมศีรษะรับตามควรแก่กรณี


การรับของและการส่งของ
    ๑.      การทูลเกล้าฯ ถวายของและการรับพระราชทานของ
๑. การทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของ หญิง ถอนสายบัว
๒. ย่อตัวลงโดยก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าเข่าซ้ายลงจรดพื้นแล้วยกพานทูลเกล้าฯถวาย
๓. ทูลเกล้าฯ แล้วถอยเท้าขวาพร้อมกับลุกขึ้นยืนตรง ถอนสายบัว
        ๑.๑ การทูลเกล้าฯ ถวายของ
             ๑.๑.๑ พัสดุหรือสิ่งของที่ยกถือเชิญอันเป็นของเบา เรียกว่าทูลเกล้าถวาย ผู้เข้าเฝ้าฯ ชายหรือหญิงเมื่อจะทูลเกล้าฯ ถวายในขณะประทับพระราชอาสน์ พระเก้าอี้ หรือประทับยืนจะต้องมีภาชนะ เช่น พานรองรับสิ่งของนั้น ผู้ถวายควรถือคอพานประคอง ๒ มือ ก่อนจะเข้าไปเฝ้าฯ ถวาย ต้องทำความเคารพตามเพศ (คำนับ – ถอนสายบัว) เมื่อจะถึงที่ประทับห่างพอประมาณ ถวายความเคารพตามเพศ (คำนับ – ถอนสายบัว) แล้วย่อตัวลง โดยก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า เข่าซ้ายลงจรดพื้นแล้วยกพานภาชนะที่รองรับสิ่งของนั้น ๆ ทูลเกล้า ฯ ถวายเมื่อทรงหยิบของในพานแล้ว ให้ลุกขึ้นถือภาชนะหรือพานลดต่ำพร้อมกับถอยเท้าขวากลับ ถวายความเคารพแล้วเดินถอยหลังไป ๓ – ๔ ก้าว ถวายความเคารพแล้วลับไปยืนหรือนั่งเฝ้าฯ ที่เดิม
๑.การทูลเกล้าฯ ถวายของชายถวายคำนับ
๒. ย่อตัวลง โดยก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า เข่าซ้ายลงจรดพื้นแล้วยกพานทูลเกล้าฯ ถวาย
๓. ทูลเกล้าฯแล้ว ถอยเท้าขวาพร้อมกับลุกขึ้นยืนตรงถวายคำนับ
          ในกรณีที่ทูลเกล้า ฯ ถวายทั้งพาน เมื่อทรงรับแล้ว ผู้ถวายลุกขึ้นยืนในท่าตรง มือปล่อยตามปรกติ ถอยหลังเล็กน้อย ถวายความเคารพแล้วเดินถอยหลังออกไป ๓ – ๔ ก้าว ถวายความเคารพ กลับไปยืนหรือนั่งเฝ้าฯ ที่เดิม
          เมื่อจะทูลเกล้าฯ ในขณะประทับราบกับพื้น ให้ถวายความเคารพก่อนแล้วจึงคลานเข้าไปจนใกล้ที่ประทับห่างพอประมาณ ยกของนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงรับแล้ววางพาน ถวายความเคารพโดยหมอบกราบ รอจังหวะ หากมีพระราชดำรัสด้วยให้ประนมมือสดับพระราชกระแสและกราบบังคมทูลตอบแล้ว จึงถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่งก่อนคลานถอยหลังกลับ

 ๑.๑.๒ พัสดุ สิ่งของ หรือสิ่งใดก็ตามที่ยกถือเชิญไม่ได้เพราะเป็นของหนักหรือสิ่งมีชีวิตเรียกว่า น้อมเกล้าฯ ถวาย การน้อมเกล้าฯ ถวายสิ่งของที่จะยกเชิญไม่ได้ เพราะเป็นของหนักหรือสิ่งมีชีวิต ส่วนมากจะทำเป็นเอกสาร เช่น โฉนดที่ดิน บัญชีรายการแบบอธิบายของต่าง ๆ วิธีการเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย ปฏิบัติตามข้อ ๑
หมายเหตุ
เรื่องการทูลเกล้าฯ ถวายเงินนี้มีบันทึกของนายเศวต ธนประดิษฐ์ ที่ปรึกษาสำนักพระราชวังชี้แจงเพิ่มเติมว่า
๑) การทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล ถ้าเป็นกรณีที่ประทับในพลับพลา พิธีในโบสถ์ วิหาร หรือาคาร มีระเบียบอยู่แล้ว ต้องใส่พานทูลเกล้าฯ ถวาย และการเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายต้องมีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ศูนย์รักษาความปลอดภัยดูแลกำกับทุกคน
๒) ถ้าเป็นกรณีที่เสด็จพระราชดำเนินเป็นการยากที่จะให้มีพานใส่ซองทูลเกล้าฯ ถวายเพราะเสด็จฯ ตามทางลาดพระบาท มีพสกนิกรเป็นร้อยเป็นพันที่สองข้างทางเสด็จฯ มีความจงรักภักดีทูลเกล้าฯ ถวายตามที่มีมากและน้อย บางรายถือธนบัตร ๒๐ – ๕๐ – ๑๐๐ โดยไม่บรรจุซองยืนถวาย เพราะเขาต่างมีความจงรักภักดี เกิศรัทธาปะสาทะขึ้นในเวลาที่เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด โอกาสเช่นนี้หาพานสำหรับรองรับของถวายให้พอแก่คนทั่วไปไม่ได้ ถ้าจะออกกฎให้ต้องใส่พานจึงจะเข้าเฝ้า ถวายตามรายทางได้ จะมีปัญหากีดกันความจังรักภักดีของประชาชน รวมทั้งชาวต่างประเทศด้วย
       ๑.๒ การรับพระราชทานสิ่งของ
            ผู้รับจะต้องใช้มือขวาโดยวิธีการ “เอางาน” คือ ยกมือไม่กางข้อศอก มือตั้ง ยกข้อมือขึ้น ๑ ครั้ง แล้วหงายมือรับพระราชทานของ ถ้ารับพระราชทานของที่เป็นของเบาให้รับมือเดียว แต่ถ้าเป็นของหนักให้ยกมือขวาเอางานก่อน แล้วจึงรีบยกมือซ้ายขึ้นมาช่วยรับ
         ชาย เดินเข้าไปห่างพอประมาณ ถวายความเคารพ (ถวายคำนับ) ย่อตัวลงโดยก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า คุกเข่าซ้าย ยกมือขวาเอางานแล้วรับพระราชทานของ เสร็จแล้วถอนเท้าขวาพร้อมกับลุกขึ้นยืนตรง ถวายความเคารพ ถอยหลังออก
          หญิง เดินเข้าไปห่างพอประมาณ ถวายความเคารพ (ถอนสายบัวแบบพระราชนิยม) แล้วยืนตรง ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า คุกเข่าซ้าย ยกมือขวาเอางาน แล้วรับพระราชทานของ เสร็จแล้วถอยเท้าขวาพร้อมกับลุกขึ้นยืนถวายความเคารพ ถอยหลังออก
          หมายเหตุ ถ้าผู้ที่รับพระราชทานของนั่งเก้าอี้อยู่ เมื่อลุกจากเก้าอี้จะต้องถวายความเคารพ ๑ ครั้ง ตามแบบที่เหมาะสมแก่เพศของตน ก่อนเดินออก และเมื่อกลับไปนั่งที่ก็ถวายความเคารพอีก ๑ ครั้ง แล้วจึงนั่ง ทั้งนี้จะถวายความเคารพกี่ครั้งสุดแล้วแต่ความเหมาสมหรือได้ซักซ้อมกันไว้ก่อน
          อนึ่ง เมื่อจะรับพระราชทานจะต้องชำเลืองดูด้วยว่า ทรงถือของที่จะพระราชทานแล้วหรือยังเพื่อจะได้กะจังหวะที่จะรับพระราชทานให้พอดี ของที่ได้รับพระราชทานแล้วจะเป็นของหนักหรือของเบาก็ตาม เมื่อกลับไปนั่งหรือยืน ณ ที่เดิมให้ถือเชิญไว้จนกว่าจะเสร็จการ
๒. การประเคนของแด่พระสงฆ์และการรับของจากพระสงฆ์
๒.๑ การประเคนของแด่พระสงฆ์หมายถึงการถวายของโดยส่งให้ตามวิธีการทางพระวินัย การประเคนของแด่พระสงฆ์ ถ้าเป็นของที่พอยกได้ใช้สองมือยกแล้วประเคนในระยะหัตถบาส ถ้าเป็นของใหญ่เกินกว่าที่จะยกได้ เช่น เรือ รถ หรือกุฎีก็ไม่ต้องยกเพียบกล่าวคำถวายหรือถวายเอกสารประกอบสิ่งของนั้นก็พอแล้ว วิธีการประเคนของ ชายและหญิงปฏิบัติดังนี้คือ ถ้าพระสงฆ์นั่งกับพื้นถือของเดินเข่าเข้าไปได้ระยะหัตถบาส แล้วยกของขึ้นประเคน ชายจะประเคนของแด่พระสงฆ์ในลักษณะมือต่อมือได้เลย ส่วนหญิงจะต้องวางบนผ้าที่พระสงฆ์ทอดออกมา จะไหว้หรือกราบแล้วแต่กาลเทศะ ถอยโดยวิธีเดินเข่า เมื่อห่างพอประมาณค่อยลุขึ้นหันตัวกลับ ในกรณีพระสงฆ์นั่งบนเก้าอี้หรืออาสน์สงฆ์ไม่ต้องเดินเข่า แต่เข้าไปให้ได้ระยะหัตถบาส และประเคนตามวิธีดังกล่าวข้างต้น ถ้ามีของถวายหลายอย่าง ควรประเคนทีละอย่าง แต่ถ้ามีถาดหรือภาชนะใส่ไว้แล้วก็ประเคนทั้งถาดหรือภาชนะได้ แต่ไม่ควรยกโต๊ะอาหารประเคนทั้งโต๊ะ เพราะเป็นของใหญ่หรือหนักเกินประมาณ ซึ่งผิดพระวินัย (คำว่า หัตถบาส แปลว่า “บ่วงมือ” หมายถึง ระยะระหว่างผู้รับประเคนและผู้ถวายไม่เกิน ๑ ศอก)
๒.๒ การรับของจากพระสงฆ์ ชายและหญิงปฏิบัติดังนี้คือ ก่อนรับของให้เข้าไปใกล้ในระยะพอสมควร แล้วแสดงความเคารพจะกราบหรือไหว้สุดแต่กาละ ของเบา ชายยื่นมือขวารับ ของหนัก ยื่นสองมือรับแล้วถอยกลับ ส่วนหญิง พระจะวางของไว้ตรงหน้า ของเบาให้เอื้อมมือขวาไปหยิบด้วยอาการนอบน้อม สำรวม ของหนักให้ยกทั้งสองมือแล้วถอยกลับ
๓. การรับของจากผู้ใหญ่และการส่งของให้ผู้ใหญ่
ของที่จะรับหรือส่ง มีสองลักษณะคือ ของหนักและของเบา ของหนักให้ถือสองมือ ของเบาให้ถือมือเดียว โดยถือด้วยมือขวา มือซ้ายปล่อยข้างตัวของที่จะรับหรือส่งควรถือตามขวาง ถ้าเป็นสมุดหรือหนังสือควรหันทางสันออกนอกตัว
๓.๑ การรับของและส่งของอย่างเป็นพิธีการ
คำว่าพิธีการในที่นี้คือ การกระทำที่เป็นพิธี มีการกำหนดนัดหมาย และมีระเบียบปฏิบัติซึ่งอาจไม่เหมือนกับวิธีปฏิบัติที่เป็นส่วนตัว
๓.๑.๑ การรับของ
ขณะผู้ใหญ่ยืน
ชาย เดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควร(ประมาณ ๒ ก้าว) ยืนตรงคำนับแล้วก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าพร้อมกับค้อมตัวเล็กน้อย รับของ เสร็จแล้วซักเท้าขวากลับ คำนับอีกครั้งหนึ่ง ถอยพอประมาณแล้วหันกลับ อีกแบบหนึ่งยืนไหว้ครั้งเดียว แทนการคำนับก่อน รับของแล้วไม่ต้องไหว้อีก
หญิง เดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควร (ประมาณ ๓ ก้าว) ย่อตัวไหว้ตามอาวุโสของผู้ส่งของให้ แล้วก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าพร้อมกับย่อตัวรับของ เสร็จแล้วซักเท้าขวากลับถอยพอประมาณ หันกลับ
ขณะผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้
ชาย เดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควร ยืนตรง คำนับก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า แล้วคุกเข่าซ้าย รับของ เสร็จแล้ว ถอยเท้าขวา พร้อมกับลุกขึ้นยืนตรง คำนับอีกครั้งหนึ่งถอยพอประมาณ หันกลับอีกแบบหนึ่ง ถอยพอประมาณหันกลับอีกแบบหนึ่ง ค้อมตัวไหว้ครั้งเดียวแทนการคำนับก่อนรับของ
ชาย-รับของขณะผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้
หญิง เดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควร ยืนตรง ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าแล้ว คุกเข่าซ้าย และไหว้ตามอาวุโสของผู้ส่งของให้รับของแล้วถอยเท้าขวา พร้อมกับลุกขึ้นยืน ถอยพอประมาณ หันกลับ
หญิง-รับของขณะผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้
ขณะผู้ใหญ่นั่งกับพื้น
ชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่มีพระคุณหรืออาวุโสมาก ให้เข้าไปใกล้ผู้ใหญ่พอประมาณ แล้วจึงเดินเข่าเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่ประมาณ ๓ ก้าว นั่งพับเพียบกราบผู้ใหญ่ ๑ ครั้ง แล้วรับของ วางของทางขวามือเหนือเข่าเล็กน้อย ถ้าผู้ใหญ่ปราศรัยด้วยก็ให้นั่งในลักษณะสำรวมเสร็จแล้วกราบอีก
๑ ครั้ง ถือของเดินเข่าถอยพอประมาณลุกขึ้นหันหลับ
๓.๑.๒ การส่งของ
ขณะผู้ใหญ่ยืน
ชาย ถือของเดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควร ยืนตรงคำนับ แล้วก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับค้อมตัวเล็กน้อย ส่งของเสร็จแล้ว ชักเท้าขวากลับ คำนับอีกครั้งหนึ่ง ถอยพอประมาณ หันกลับ อีกแบบหนึ่ง ใช้การยืนไหว้ ครั้งเดียวแทนการคำนับเมื่อส่งของให้ผู้ใหญ่แล้ว
ส่งของให้ผู้ใหญ่แล้วค้อมตัวคำนับ
ส่งของให้ผู้ใหญ่แล้วใช้การไหว้แทนการคำนับ
หญิง ถือของเดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควรยืนตรง แล้วก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับย่อตัวเล็กน้อย ส่งของเสร็จแล้วไหว้ในขณะที่ย่อตัวอยู่ แล้วซักเท้าขวากลับถอยพอประมาณ หันกลับ

ในกรณีที่มีภาชนะรองรับของเช่น พาน
ในกรณีที่มีภาชนะรองรับของเช่น พาน ให้จับคอพานทั้งสองมือ เดินเข้าไปให้ได้ระยะพอสมควร ค้อมตัว ยกพานส่งของให้ เมื่อผู้ใหญ่รับของไปแล้วถือพานด้วยมือขวา ชายคำนับ แล้วถอยกลับ หญิงค้อมตัวเล็กน้อย ถอยกลับ
ขณะผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้
ชาย ถือของเดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควร ยืนตรงคำนับ ก้าวเท้าขวาไป ข้างหน้าแล้วคุกเข่าซ้ายส่งของเสร็จแล้วถอยเท้าขวากลับพร้อมกับลุกขึ้นยืนตรง คำนับอีกครั้งหนึ่ง ถอยพอประมาณ หันกลับ อีกแบบหนึ่ง ใช้การค้อมตัวไหว้ครั้งเดียวแทนการคำนับเมื่อส่งของให้ผู้ใหญ่แล้ว
ส่งของในพานขณะผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้
หญิง ถือของเดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควร ยืนตรง ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า แล้วคุกเข่าซ้ายส่งของ เสร็จแล้วไหว้ตามอาวุโสของผู้รับ แล้วถอยเท้าขวาพร้อมกับลุกขึ้นยืนถอยพอประมาณหันกลับ
ขณะผู้ใหญ่นั่งกับพื้น

เดินเข่าถือของเข้าไป ห่างจากผู้ใหญ่พอประมาณนั่งพับเพียบวางของทางขวามือเหนือเข่าเล็กน้อย
แล้วกราบผู้ใหญ่ ๑ ครั้ง

ส่งของให้ผู้ใหญ่
ชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน ถ้าเป็นผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณหรือผู้มีอาวุโสมากให้ผู้ที่เข้าไปส่งของเดินเข่าถือของเข้าไป ห่างจากผู้ใหญ่พอประมาณนั่งพับเพียบวางของทางขวามือเหนือเข่าเล็กน้อย แล้วกราบผู้ใหญ่ ๑ ครั้ง ส่งของให้ผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่ปราศรัยด้วยก็ให้นั่งลักษณะสำรวม เมื่อจะลากลับกราบอีก ๑ ครั้ง ถอยโดยวิธีเดินเข่า ห่างจากผู้ใหญ่พอประมาณลุกขึ้นยืน หันกลับ
๓.๒ การรับของและส่งของอย่างไม่เป็นพิธีการ
การรับของและส่งของอย่างไม่เป็นพิธีการนั้น หมายถึง การรับของ และส่งของเป็นการส่วนตัวขณะที่ผู้ใหญ่ยืนอยู่หรือนั่งบนเก้าอี้รับแขก หรือนั่งบนพื้นในบ้าน ทั้งชายและหญิงควรปฏิบัติด้วยอาการนอบน้อมด้วยการทำความเคารพคือ เมื่อจะรับของก็ไหว้ท่านแล้วจึงรับ เมื่อจะส่งของให้ท่านก็ส่งของก่อนแล้วจึงไหว้ ทั้งนี้พึงปฏิบัติให้เหมาะสมตามกรณี เมื่อจะลาท่านก็ให้ไหว้อีกครั้งหนึ่ง
หมายเหตุ การรับของหรือการส่งของเมื่อผู้ใหญ่นั่งกับพื้น ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่อาวุโสไม่มาก เช่น พี่ น้า อา เป็นต้น ให้ใช้วิธีการนั่งพับเพียบไหว้ การเข้าและออกให้ใช้วิธีเดินเข่า

ความสามัคคี


ความสามัคคี


          ความสามัคคี หมายถึง ความพร้อมเพรียงกัน ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง วิวาทบาดหมางกัน

ความสามัคคี มีด้วยกัน 2 ประการ คือ 1.ความสามัคคีทางกาย ได้แก่ การร่วมแรงร่วมใจกันในการทำงาน 2.ความสามัคคีทางใจ ได้แก่ การร่วมประชุมปรึกษาหารือกันในเมื่อเกิดปัญหาขึ้นความสามัคคีดังที่ว่านี้ จะเกิดมีขึ้นได้ ต้องอาศัยเหตุที่เรียกกันว่า สาราณียธรรม ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน กระทำซึ่งความเคารพระหว่างกัน อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยดี มีความสุข ความสงบ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายทำลายกัน มี 6 ประการ คือ 

1.ทำต่อกันด้วยเมตตา คือ แสดงไมตรีและความหวังดีต่อเพื่อนร่วมงาน ร่วมกิจการ ร่วมชุมชน ด้วยการช่วยเหลือธุระต่างๆ โดยเต็มใจ แสดงอาการกิริยาสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

2.พูดต่อกันด้วยเมตตา คือ ช่วยบอกสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอนหรือแนะนำตักเตือนกันด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

3.คิดต่อกันด้วยเมตตา คือ ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน

4.ได้มาแบ่งกันกินใช้ คือ แบ่งปันลาภผลที่ได้มาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็แจกจ่ายให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน

5.ประพฤติให้ดีเหมือนเขา คือ มีความประพฤติสุจริต ดีงาม รักษาระเบียบวินัยของส่วนรวม ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจ หรือทำความเสื่อมเสียแก่หมู่คณะ

6.ปรับความเห็นเข้ากันได้ คือ เคารพรับฟังความคิดเห็นกัน มีความเห็นชอบร่วมกัน ตกลงกันได้ในหลักการสำคัญ ยึดถืออุดมคติหลักแห่งความดีงาม หรือจุดหมายอันเดียวกัน

ธรรมทั้ง 6 ประการนี้

เป็นคุณค่าก่อให้เกิดความระลึกถึง ความเคารพนับถือกันและกัน เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน เพื่อป้องกันความทะเลาะ ความวิวาทแก่งแย่งกัน เพื่อความพร้อมเพรียงร่วมมือ ผนึกกำลังกัน เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อานิสงส์ของความสามัคคีนี้ ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข ความเจริญ เป็นเหตุแห่งความสำเร็จในกิจการงานต่างๆ การงานอันเกินกำลังที่คนๆ เดียวจะทำได้ เช่น การก่อสร้างบ้านเรือน ต้องอาศัยความสามัคคีเป็นที่ตั้ง แมลงปลวกสามารถสร้างจอมปลวกที่ใหญ่โตกว่าตัวหลายเท่าให้สำเร็จได้ ก็อาศัยความสามัคคีกัน เพราะฉะนั้น การรวมใจสามัคคีกันจึงเกิดมีพลัง ส่วนการแตกสามัคคีกันทำให้มีกำลังน้อย

โทษของการแตกสามัคคีกันนั้น ท่านกล่าวไว้ว่า หาความสุข ความเจริญไม่ได้ ไม่มีความสำเร็จด้วยประการทั้งปวง เหตุให้แตกความสามัคคีกันนี้ อาจเกิดจากเหตุเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นได้ เหมือนเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว แต่เป็นเหตุให้เกิดสงครามได้เหมือนกัน ดูตัวอย่างเรื่องพวกเจ้าลิจฉวีในเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี มีความสามัคคีกัน พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทำอะไรไม่ได้ แต่พอถูกวัสสการพราหมณ์ยุยงให้แตกสามัคคีกันเท่านั้น ก็เป็นเหตุให้พระเจ้าอชาตศัตรู เข้าโจมตีและยึดเมืองเอาไว้ได้ในที่สุด

       ดังนั้น ความสามัคคี ถ้าเกิดมีขึ้นในที่ใด ย่อมทำให้ที่นั้นมีแต่ความสงบสุข ความเจริญ ส่วนความแตกสามัคคี ถ้าเกิดมีขึ้นในที่ใด ย่อมทำให้ที่นั้นประสบแต่ความทุกข์ มีแต่ความเสื่อมเสียโดยประการเดียว